พระเครื่อง
- หมวด 4 จตุรเทพโคตรแชมป์
- พระสุดหวงของ ช้าง–วัดห้วย
- หมวดพระสวยขั้นเทพ-มีไว้แค่โชว์
- หมวดรวมพระแชมป์ยอดนิยม
- พระเบญจภาคี
- พระปิดตายอดนิยม
- เครื่องรางยอดนิยม
- พระเครื่องเนื้อโลหะยอดนิยม
- หมวดพระหลักฝากขาย เกรดพรีเมี่ยม
- พระเครื่องเนื้อดินยอดนิยม
- พระชุดเล็กยอดนิยม
- หมวดมรดกพระเครื่อง อ.เต็ก
- หมวดพระเครื่ององค์พิเศษ
- พระทวารวดี และเทวรูปขนาดเล็ก
- หมวดพระแชมป์–ราคาแรงส์
- หมวดพระแปลกตาแต่แท้ชัวร์
- หมวดพระแชมป์–ราคาเบา
- หมวดพระยอดหายาก
พระปิดตา หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน กรุงเทพฯ องค์แชมป์
โดย ช้าง-วัดห้วย
พระปิดตา หลวงปู่ไข่ พิมพ์ใหญ่
หนึ่งในเบญจภาคี พระปิดตาเนื้อผง ที่ขึ้นชื่อว่าหายากที่สุดในบรรดาพระปิดตายอดนิยมระดับหัวแถวทั้งหมด พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์ใหญ่หลังแบบที่ว่าหายากมาก ๆ แล้วเมื่อเทียบกับพระปิดตาหลวงปู่ไข่ ยังจะหาง่ายกว่า ใครมีต่างก็หวงแหนคือเก็บไว้เป็นองค์สุดท้ายของชีวิตเลยก็ว่าได้ พระปิดตาหลวงปู่ไข่เป็นพระที่สร้างไว้น้อยมาก ๆ คนดูเป็นก็น้อย ข้อมูลก็มีน้อย ผู้เขียนก็ว่าจะเขียนบทความนี้มานานมากแล้ว แต่องค์ที่จะมาชี้ตำหนิมันยังไม่สวยสุดก็เลยไม่มีแรงจะเขียนบทความ พอตอนนี้ได้พระปิดตาหลวงปู่ไข่องค์แชมป์มาก็เลยมีแรงฮึดที่จะเขียนบทความพร้อมอธิบายวิธีดูว่าดูอย่างไร ซึ่งในตำราต่าง ๆ แค่บอกว่าดูข้อศอกซ้ายพระจะห้อยต่ำกว่าข้างขวาเท่านั้น รายละเอียดอื่น ๆ ก็ไม่มี และวันนี้ผู้เขียนจะมาเปิดเผยให้ทั้งหมดเลย เพื่อให้เพื่อน ๆ สมาชิกได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีกเล็กน้อยก็ยังดี
ประวัติโดยคร่าว ๆ วัดเชิงเลน หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบพิตรพิมุขจักรวรรดิ์ กรุงเทพฯ เป็นวัดโบราณ มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมา “กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข” ได้สถาปนาขึ้นมาใหม่ และต่อมาเมื่อถึงรัชกาลที่ 3 ได้ทรงโปรดปฏิสังขรณ์อีกครั้ง หลวงปู่ไข่ หนึ่งในห้าของอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของภาคตะวันออก ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ จ.ฉะเชิงเทรา หลวงปู่ไข่ได้สร้างพระปิดตาเช่นเดียวกันกับพระอาจารย์ แต่พระปิดตาของหลวงปู่ไข่กลับมา โด่งดังที่กรุงเทพฯ และบริเวณแถบภาคกลาง หลวงปู่ไข่เป็นชาวแปดริ้วโดยกำเนิด ท่านเกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2400 ณ บ้านประตูน้ำท่าไข่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อท่านอายุครบบวชท่านก็ได้อุปสมบท และร่ำเรียนพระธรรมวินัยอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้น ท่านก็ไปฝากตัวเป็นศิษย์อยู่กับหลวงปู่จีนที่วัดท่าลาดเหนือ จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ก็เพราะหลวงปู่ไข่ท่านชอบทางไสยเวท และเมื่อมาอยู่กับหลวงปู่จีนซึ่งท่านจะเชี่ยวชาญและเป็นผู้เรืองวิทยาคมทางด้านนี้โดยเฉพาะ หลวงปู่ไข่ท่านตั้งใจศึกษาหาความรู้จนเชี่ยวชาญ ภายหลังท่านก็อำลาพระอาจารย์ออกธุดงค์ สู่ป่าเขาลำเนาไพร แสวงหาวิชาอาคมเพิ่มเติมเรื่อยไป เมื่อถึง พ.ศ. 2445 ท่านได้มุ่งสู่เมืองหลวง และได้จำพรรษาอยู่ ณ “วัด เชิงเลน” เพียงแค่ 7-8 ปีเท่านั้น กุฏิหลวงปู่ไข่ ก็เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่เลื่อมใสและศรัทธา จนถึง พ.ศ. 2460 วัตถุมงคลของหลวงปู่ไข่ก็ได้เริ่มออกสู่สายตาบ้าง แต่ก็ไม่มาก คือท่านจะถือหลักไว้ว่า “หมดแล้วทำใหม่”
หลวงปู่ไข่ได้สร้างพระปิดตา เนื้อผงคลุกรัก เนื้อจะออกสีเหลืองแก่ หรือสีน้ำตาล โดยจะลงรักปิดทอง หรือลงรักน้ำเกลี้ยง ลงยางไม้ก็มี ส่วนพุทธคุณจะเน้นไปทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกะพัน ดุจเช่นเดียวกันกับพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เลยทีเดียว
หลวงปู่ไข่ได้สร้างพระปิดตาไว้น้อยมากโดยแบ่งเป็น 3 ขนาด จากตัวองค์พระไม่รวมขอบข้าง คือ พิมพ์ใหญ่, พิมพ์กลาง, พิมพ์เล็ก แต่ในวงการจะไม่เรียกตามขนาดสักเท่าไร เพราะพระบางองค์ องค์พระเล็กนิดเดียว แต่ปีกใหญ่ก็มี จึงเรียกรวม ๆ กันว่าพระปิดตาหลวงปู่ไข่ แต่สำหรับพระปิดตาหลวงปู่ไข่พิมพ์ใหญ่เราสามารถแยกออกได้ คือ ขนาดตัวองค์พระอยู่ราว ๆ 2.3-2.4 ซม. หน้าตัก 1.5-1.6 ซม. ส่วนตำหนิที่สำคัญของพิมพ์ใหญ่ก็คือใต้ข้อศอกซ้ายจะมีเนื้อเกินเป็นก้อนกลม ๆ อยู่ 1 ก้อน ซึ่งพิมพ์กลางและพิมพ์เล็กจะไม่มี พระปิดตาหลวงปู่ไข่ทั้งพิมพ์ใหญ่, กลาง, เล็ก ทุกพิมพ์ ช่างที่แกะแม่พิมพ์จะทิ้งเอกลักษณ์ไว้เช่น จะแกะแม่พิมพ์ ลักษณะตัวองค์พระจะผอม ๆ ข้อศอกซ้ายจะห้อยต่ำลงกว่าข้างขวา ด้านหลังอูม เป็นแบบนี้ทั้ง 3 พิมพ์ ส่วนด้านหลังมีทั้งจารอักขระ และไม่มีจารก็มี
ส่วนองค์ที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นพระปิดตาหลวงปู่ไข่ พิมพ์ใหญ่ ที่สวยที่สุดตั้งแต่ผู้เขียนเคยเห็นมาเลย เป็นพระปิดตาที่ลงรักปิดทองที่สวยสมบูรณ์มาก ๆ ทองเก่าที่ปิดมีร่องรอยถูกสัมผัส ส่วนที่สูงเล็กน้อยเท่านั้น ตัวองค์พระกดพิมพ์ติดลึกสุด ๆ ตำหนิพิมพ์ต่าง ๆ ติดชัดเจนครบถ้วนทุกจุด ปีกด้านข้างก็เหลือไว้พอดี ๆ ไม่ใหญ่โตเกินไป ขนาดโดยรวมถือว่าไม่ใหญ่เกินไป จัดเป็นพระ ปิดตาหลวงปู่ไข่พิมพ์ใหญ่ที่สวยที่สุดในวงการพระเครื่องในปัจจุบันนี้เลยทีเดียว
หลักการพิจารณาตำหนิพิมพ์ หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน
1. ให้ดูซอกแขนซ้ายพระจะแคบกว่าซอกแขนขวาพระ
2. ท่อนแขนซ้ายพระช่วงท่อนบนไปจนถึงหัวไหล่ซ้ายพระ ช่างจะแกะแม่พิมพ์ให้ต่ำกว่าข้างขวาพระ โดยช่างจะแกะตรงช่วงข้อศอกสูงแล้วลาดต่ำลงไปหาหัวไหล่
3. ให้ดูข้อศอกซ้ายพระ ช่างจะแกะแม่พิมพ์ห้อยต่ำกว่าข้างขวาพระ
4. ให้ดูตรงปลายข้อศอกซ้ายพระ (ลูกศรชี้) จะมีเนื้อเกินก้อนกลม ๆ อยู่ติดกับข้อศอกซ้ายพระ
5. ให้สังเกตดี ๆ จะเห็นแถบ 2 แถบคล้ายท่อนแขนจะล้วงลงล่าง และท่อนแขนซ้ายพระจะแกะแม่พิมพ์โด่งกว่าเล็กน้อย
6. ให้ดูข้างข้อศอกขวาพระ (ตามลูกศรชี้) จะมีเนื้อเกิน 1 ก้อนใหญ่ ซึ่งเกิดจากแม่พิมพ์และเป็นทุกองค์ (เฉพาะพิมพ์ใหญ่)
7. ให้ดูข้อศอกขวาพระ ช่างจะแกะแม่พิมพ์ให้ถ่างออกไปทางขวาเล็กน้อย
8. ตรงหัวพระด้านขวาพระ (ตามลูกศรชี้) จะมีรอยเป็นแอ่งบุ๋ม ซึ่งเกิดจากการแกะแม่พิมพ์
9. ให้ดูภาพรวมของพระปิดตาหลวงปู่ไข่พิมพ์ใหญ่ ส่วนใหญ่ช่างจะแกะแม่พิมพ์ ทั้งพิมพ์ใหญ่, พิมพ์กลาง, พิมพ์เล็ก ให้แลดูผอม ๆ ไม่ล่ำ ในลักษณะคล้ายนั่งพับเพียบ ลำตัวจะเอียง ๆ เล็กน้อย ส่วนขอบข้างพระปิดตาจะไม่มีการตัดขอบ ช่างจะใช้มือกด ๆ คลึง ๆ ให้ได้รูปรี ๆ แค่นั้น
10. ด้านหลังส่วนใหญ่จะอูมและบางองค์จะมีจาร จะจารเป็นรูปคล้ายน้ำเต้าขึ้นไป 3 ชั้น