พระเครื่อง
- หมวดรวมพระเบญจภาคีทุกประเภท
- หมวด 4 จตุรเทพโคตรแชมป์
- พระสุดหวงของ ช้าง–วัดห้วย
- หมวดพระสวยขั้นเทพ-มีไว้แค่โชว์
- หมวดรวมพระแชมป์ยอดนิยม
- พระเบญจภาคี
- พระปิดตายอดนิยม
- เครื่องรางยอดนิยม
- พระเครื่องเนื้อโลหะยอดนิยม
- หมวดพระหลักฝากขาย เกรดพรีเมี่ยม
- พระเครื่องเนื้อดินยอดนิยม
- พระชุดเล็กยอดนิยม
- หมวดมรดกพระเครื่อง อ.เต็ก
- หมวดพระเครื่ององค์พิเศษ
- พระทวารวดี และเทวรูปขนาดเล็ก
- หมวดพระแชมป์–ราคาแรงส์
- หมวดพระแปลกตาแต่แท้ชัวร์
- หมวดพระยอดหายาก
- ผลการประกาศรางวัลงานประกวดรูปพระเครื่อง ครั้งที่ 2
พระแชมป์ ราคาเบา
เบญจภาคีเครื่องราง
หมวดรวมพระเบญจภาคีทุกประเภท
หมวดนี้จะเป็นหมวดสุดท้ายของช้างวัดห้วย ซึ่งผู้เขียนก็อายุมากขึ้นทุกวัน ก็เลยจะเขียนหมวดรวมเบญจภาคีเป็นหมวดสุดท้ายก็จะเขียนรอบละ 1 อย่าง ๆ ละ 5 องค์ ทุก 2-3 เดือน/1 ครั้ง รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็คงจบ หลังจากนั้นก็คงเหลือแต่เฉพาะตอบจดหมายทั้งแบบธรรมดาและเกรดพรีเมี่ยมที่ยังจะเขียนต่อไปเรื่อย ๆ จนหมดแรงนั่นแหละ ก็คงจะเลิกแล้ว ส่วนตอนนี้เราจะอธิบายว่าแต่ละอย่างเราจะลงอะไรไว้บ้าง ก็คือพระที่เราจะนำมาลงก็จะเป็นพระของช้าง–วัดห้วย ทั้งหมด โดยจะคัดพระองค์ที่สวยสุด ดูง่ายที่สุด และมาตรฐานที่สุดมาลงในหมวดนี้ โดยจะเขียนอธิบายเล็กน้อยและได้มาอย่างไร ราคาตอนนั้นเท่าไร โดยจะเริ่มจาก 1. พระเบญจภาคี เครื่องราง - ตะกรุดโสฬสมงคล ขนาด 3.5 นิ้ว เนื้อเงิน - เขี้ยวเสือแกะ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย พิมพ์อ้าปาก (ยิงฟัน) - หนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุล (องค์จอมทัพ) - ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง - เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง กรุงเทพฯ (เบี้ยทองมะเฟือง) 2. พระเบญจภาคี พระปิดตาเนื้อผง - พระปิดตา หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์ใหญ่หลังแบบ - พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง - พระปิดตา หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน - พระปิดตา หลวงปู่จีน วัดท่าลาด - พระปิดตา หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว 3. พระเบญจภาคี พระปิดตาเนื้อโลหะ - พระปิดตา หลวงพ่อทับ วัดทอง พิมพ์ยันต์น่อง - พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง พิมพ์ยันต์ยุ่ง - พระปิดตา หลวงปู่จัน วัดโมลี แร่บางไผ่ - พระปิดตา หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ พิมพ์หูกระต่าย 4. พระเบญจภาคี ชุดใหญ่ - พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ พิมพ์ที่ 2 “องค์บารมี” - พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ข้างกนก กรุฤๅษี (องค์บุญปลื้ม) - พระนางพญาพิษณุโลก พิมพ์เข่าโค้ง - พระรอดมหาวันพิมพ์ใหญ่ (องค์เนื้อเขียวจากเชียงราย) - พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ (องค์เนื้อเขียว) ตะกรุดโสฬสมงคล หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จังหวัดนนทบุรี ตะกรุดโสฬสมงคล หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ขนาด 3.5” เนื้อเงิน จังหวัดนนทบุรี ตะกรุดโสฬสมงคล หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จังหวัดนนทบุรี ได้รับความนิยมและได้รับเกียรติและถูกยกย่องให้เป็นตะกรุดอันดับ 1 ของตะกรุดทั้งปวง และได้จัดเป็นเครื่องรางอันดับ 1 ที่มีคุณวิเศษยอดเยี่ยมในทุก ๆ ด้าน ราคาเช่าสูงสุดถึงหลักล้าน และหลักหลาย ๆ ล้านในอนาคตนี้ ตะกรุดโสฬสมงคล หลวงปู่เอี่ยม นั้น มีขั้นตอนการจัดสร้างดังนี้ เริ่มจากหลวงปู่เอี่ยมนำแผ่นตะกรุดมาลงอักขระ “ยันต์โสฬสมงคล” ไว้ด้านในตะกรุด ส่วนด้านนอกจะลง “ยันต์ ไตรสรณคมน์” เสร็จแล้วก็ม้วนตะกรุดแล้วถักเชือก เสร็จแล้วนำตะกรุดไปพอกผงพุทธคุณโดยนำตะกรุดไปคลึงกับผงพุทธคุณ แล้วไปจุ่มรักอีกที เป็นอันเสร็จขั้นตอนทำตะกรุด ด้วยพลังอานุภาพคุณวิเศษของยันต์ต่าง ๆ กับหลวงปู่เอี่ยม ท่านได้บรรจุพุทธาคมทำให้ตะกรุดโสฬสนั้น เปี่ยมไปด้วยพลานุภาพ เข้มขลังดีพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางด้านมหาอุด คงกระพัน และป้องกันคุณไสย, ป้องกันภูตผี ปีศาจ ถ้าบูชาไว้ในบ้าน จะป้องกันไฟได้อีกด้วย และหลวงปู่เอี่ยมได้ฝากข้อความถึงลูกศิษย์ท่านไว้ว่า “ถ้าหากมีเหตุทุกข์ร้อนเกิดขึ้น ให้ระลึกถึงชื่อท่าน” หลวงปู่เอี่ยมได้สร้างตะกรุดตั้งแต่ยุคแรก ประมาณปี พ.ศ. 2397-2430 โดยสร้างพร้อมกับพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก เพื่อหาทุนสร้างวิหารและสร้างเจดีย์โดยมีบันทึกบอกไว้ว่า “ตะกรุด 1 ดอก ให้บูชาดอกละ 1 ตำลึง” หรือใครทำบุญบริจาคด้วยหิน, ดิน, ทราย 1 ลำเรือก็จะได้รับตะกรุด 1 ดอก ตะกรุดสาริกาโสฬสมงคล ขนาด 1.5” ตะกรุดโสฬสมงคลสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้อตะกั่ว ส่วนเนื้อเงินจะมีน้อย ส่วนความยาวตะกรุดที่พบมากที่สุดก็คือ 3.5 นิ้ว ถือเป็นมาตรฐาน และยาวสุดไม่เกิน 4” ส่วนดอกสั้นสุดเรียกว่าตะกรุดสาริกา ขนาดยาว 1.5” ไว้แจกเด็กและสตรี ส่วนวิธีม้วนตะกรุดขนาด 3.5”-4” จะม้วนตะกรุดประมาณ 7-8 รอบโดยประมาณ ขนาดจะใหญ่ประมาณกับมวนบุหรี่ ส่วนตะกรุดสาริกา ขนาด 1.5” จะม้วนตะกรุดประมาณ 3-4 รอบโดยประมาณ แล้วถักเชือกเป็นลายเกลียวโดยให้ปลายตะกรุดมีหัวตะกรุดโผล่ออกมา (ซึ่งต่อมาจะเรียกว่าก้นแมงสาบ) ส่วนตะกรุดโสฬสมงคล ขนาด 3.5” เนื้อเงินดอกนี้ เมื่อก่อนเจ้าของเดิมคือคุณคมสัน ก็อยู่ในหมวดตอบจดหมายนี่แหละ เกิดไปชอบพระปิดตาวัดสะพานสูง พิมพ์ชะลูดถักเชือกลงรัก ปิดทองของคนอยู่แม่กลอง ก็แลกกันตัวต่อตัว ภายหลังผู้เขียนก็โทรไปสอบถามปิดตาสะพานสูง คุณคมสันก็แลกของต่อไปอีกทีเลยตามตัวไม่เจอแล้ว ส่วนเจ้าของตะกรุดสะพานสูงเนื้อเงินยาว 3.5 นิ้ว ดอกนี้ เกิดอยากได้พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้ายของผู้เขียน ผู้เขียนก็บอกให้เอาตะกรุดสะพานสูงเนื้อเงินมาแลกแล้วเพิ่มเงินให้ผู้เขียนอีก 1 แสนบาท ต่อไปต่อมาเหลือ 5 หมื่นบาท เป็นอันตกลง สภาพตะกรุดโสฬสมงคล เนื้อเงินดอกนี้ ก็ยังถือว่าสวยสมบูรณ์ ขนาดมาตรฐาน 3.5” แถมเป็นตะกรุดเนื้อเงินอีกด้วย ซึ่งหายากมาก ๆ ในวงการพบเจอไม่เกิน 5 ดอกแค่นั้น ตะกรุดดอกนี้ถือว่ายังสวยสมบูรณ์ ตรงปลายตะกรุดเนื้อเงินยังเห็นรอยจารโผล่แลบออกครึ่งตัวอักขระ (ลองถ่างขยายใหญ่ดู) จะเห็นได้ชัดเจน ตะกรุดดอกนี้ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของผู้เขียนอย่างยิ่ง ถ้าจะเล่นต้องเล่นให้สุด ส่วนเนื้อทองแดงผู้เขียนมีเก็บไว้ 4 ดอก ยาว 3.5” ทั้งหมด เอาแต่ขนาดมาตรฐานทั้งสิ้นครับ ส่วนตะกรุดสาริกาโสฬสมงคลดอกนี้ยาว 1.5” เนื้อทองแดงดอกนี้ได้จากชาวบ้าน ซื้อบนคอเจ้าของเดิมเลย เดิมเลี่ยมพลาสติกทำเป็นสามห่วงไว้ตรงกลางด้านล่างห้อยพระกรุ 1 องค์ ผู้เขียนเห็นแล้วชอบเลยขอแบ่งมาในราคา 8 หมื่นบาท แล้วให้ค่านำพาไปอีก 1 หมื่นบาท สภาพตะกรุดสาริกา เมื่อแกะพลาสติกออกมาแล้ว ตะกรุดค่อนข้างสวยสมบูรณ์ สภาพโดยทั่วไปก็คล้ายดอก 3.5” คือ ม้วนตะกรุดพันประมาณ 3-4 รอบ ถักเชือกให้ปลายตะกรุดโผล่ออกมาข้างละเล็กน้อย ถือว่าเป็นตะกรุดสาริกาที่หายากมาก ๆ ในปัจจุบันครับ ----------------- เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย (วัดมงคลโคธาวาส) จังหวัดสมุทรปราการ เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จังหวัดสมุทรปราการ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ท่านเป็นพระอาจารย์สอนทางด้านวิปัสสนาที่มีชื่อเสียง และเป็นที่นับถือมากที่สุดสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านได้สร้างเครื่องรางประเภท “เขี้ยวเสือแกะ” เป็นรูปเสือนั่งที่มีผู้คนต้องการไขว่คว้ามาครอบครอง และมีราคาสูงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ยังจัดอยู่ในชุดเบญจภาคีเครื่องราง ที่มีราคาสูงสุดในขณะนี้ เสือหลวงพ่อปาน ถือเป็นอันดับ 1 ของเครื่องราง และมีคุณวิเศษทางด้าน “มหาอำนาจ, บารมี” หลวงพ่อปานท่านปลุกเสกด้วยคาถาหัวใจพญาเสือโคร่ง เหมาะสำหรับผู้ต้องการเป็น “ผู้นำ, อำนาจ, และบารมี” และมีสง่าราศีและยังเลิศล้ำ สุดยอดทางคุ้มครองป้องกันและแคล้วคลาด คงกระพัน ตลอดจนให้คุณทางด้านโชคลาภ, วาสนา เกื้อหนุนหน้าที่การงานให้เจริญก้าวหน้า และมีคุณต่าง ๆ แบบครอบจักรวาล ทำให้เป็นที่ต้องการกันอย่างมาก และเสือแต่ละตัวถ้าสวย ๆ จะมีราคาสูงมาก ราคาเริ่มต้นต้องว่ากันตัวละหลายแสนจนถึงหลักล้านเลยทีเดียว
หลักการสังเกตและพิจารณาเสือหลวงพ่อปานเบื้องต้น 1. เสือหลวงพ่อปาน จะสร้างด้วยการแกะด้วยมือทีละตัว ฝีมือแกะแต่ละตัวก็จะคล้าย ๆ กัน แต่เอกลักษณ์ที่คล้ายกันเป็นแนวทางเดียวกันก็คือ “เสือหน้าแมว, หูหนู, ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า” ก็คือการแกะเสือ ลักษณะจะคล้ายแมว ซึ่งจะนั่งชันเข่าหน้า หางม้วนรอบฐานหรือพาดขึ้นหลัง ทั้งเป็นหางเส้นตรงและหางคดเคี้ยว ส่วนนิ้วเท้าจะแกะข้างละ 4 นิ้ว รวมเป็น 16 โสฬส ซึ่งเป็นมงคลและเป็นมาตรฐาน ส่วนตาจะกลมมีหลุมตรงกลางแบบลูกเต๋า, ใบหูเล็กแต่มีรูหูใหญ่แบบหูหนู และที่สำคัญคือรอบตัวกับใต้ฐานจะมีรอยจารอักขระเลขยันต์โดยทั่ว 2. เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน “ต้องแกะจากเขี้ยวเสือเท่านั้น” จึงถือเป็นมาตรฐาน ส่วนที่แกะจากเขี้ยวหมีส่วนใหญ่จะสร้างยุคหลังที่หาเขี้ยวเสือมาแกะไม่ได้ แต่จะไม่ได้เป็นมาตรฐานวงการ ซึ่งจะรวมไปอยู่ในหมวดของเลียนแบบที่สร้างจากเขี้ยวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เขี้ยวเสือ ส่วนถ้าเป็นเขี้ยวเสือแท้ ๆ เมื่อผ่านการใช้มาอย่างยาวนาน เขี้ยวเสือจะขึ้นมันเข้มจัด บางเขี้ยวจะขึ้น “ขน” เป็นรอยแตก เป็นขีด ๆ เส้นเล็ก ๆ ตลอดทั้งพื้นผิวลำตัวเสือให้ผู้อ่านดูรูปที่ผู้เขียนเอาเสือตัวนี้มาลงคือตัวอย่าง “เสือผิวขึ้นขน” จะถือว่าดูง่ายและเก่าจัด ตอนที่ผู้เขียนเห็นรูปครั้งแรกโดยไม่ดูเสือแกะตัวจริง “เสือผิวขึ้นขน” ตัวนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจซื้อเสือตัวนี้ครับ 3. เขี้ยวเสือที่แกะเป็นรูปเสือจะมีทั้งแกะเต็มเขี้ยว หรือแกะแค่ครึ่งเขี้ยว หรือแกะแค่ปลายเขี้ยว แกะเป็นตัวเล็ก ๆ ก็มี เขี้ยวเสือส่วนใหญ่จะมีรูอยู่ตรงกลาง จากฐานทะลุถึงบนหัวเสือเลย ส่วนรูจะต้องเป็นรูกลมหรือรูรีเท่านั้น และแบบสุดท้ายจะเรียกเขี้ยวซีก โดยจะเอาเขี้ยวเสือชิ้นใหญ่มาแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วค่อยแกะเป็นรูปเสือ เรียกว่า เสือสาริกา และเขี้ยวเสือที่ใช้ไปนาน ๆ และ เขี้ยวเสือมีอายุนั้น เขี้ยวเสือจะมีรอยแตกลั่นและรานเป็นทางยาว ส่วนใหญ่เท่าที่พบจะเกิดกับเขี้ยวเสือขนาดใหญ่กับขนาดกลาง ซึ่งจะเป็นเขี้ยวเสือโคร่ง ส่วนเขี้ยวเสือขนาดเล็กซึ่งแกะจากเขี้ยวเสือไฟหรือพวกเขี้ยวซีกนำมาแกะส่วนใหญ่ที่เจอจะไม่ค่อยแตกรานครับ 4. การจารอักขระบนตัวเสือจะวางอักขระดังนี้ - ตรงลำตัวด้านซ้ายและขวา จะจารเลข ๗ ไทย หรือเลข ๙ ไทย - ตรงสะโพกด้านซ้ายและขวา จะจาร ฤ ฤๅ ทั้งสองข้าง - ตรงขาหน้าตรงทั้ง 2 จะจารตัว อุ หางลงล่าง ส่วนใต้ฐาน - ส่วนใหญ่จะจารตัว อุ 3 ตัว - ยันต์กอหญ้า (ม้วนเป็นวง ๆ) 2 วง - และยัน ฦ ฦๅ อีก 1 ตัว และนี่ก็คือเรื่องราวหรือหลักการพิจารณาง่าย ๆ ที่เล่าสู่กันฟัง สุดท้ายก็จะบอกว่าลายมือจารอักขระบนตัวเสือคืออีกสิ่งที่ควรจดจำ เพราะลายมือจารมีอยู่หลายแบบ แต่ลายมือที่อยากจะแนะนำและควรจดจำก็คือลายมือบนตัวเสือ ลายมือนี้ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐาน ซึ่งลายมือนี้จะอยู่บนเสือตัว ดัง ๆ ระดับประเทศเลยทีเดียว ส่วนใครจะจดจำได้มากแค่ไหนก็แล้วแต่ความสามารถแล้วกันครับ เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จังหวัดสมุทรปราการ ประวัติการได้ครอบครองเสือตัวนี้ วันหนึ่งลูกค้าอยู่ทางใต้ (ไม่ออกนามครับ) ได้ส่งภาพเสือหลวงพ่อปาน มาถามผู้เขียน - สวัสดีครับอาจารย์ รบกวนช่วยดูองค์นี้ให้หน่อยครับ - ผมก็ตอบว่า เสือตัวนี้ก็เก่านะ ตามลำตัวแตกเป็นริ้ว ๆ ส่วนลายมือจารก็เยี่ยมเลย แต่โดยรวมก็ถือว่าโอเคครับ ให้ผ่าน แล้วเจ้าของเปิดไว้เท่าไหร่ - เปิดไว้ “หลักหมื่น” ครับ แต่เค้าดูไม่เป็นก็เลยยังไม่ต่อราคา - ผมก็เลยถามว่า ถ้าคุณไม่ต่อราคา ผมก็บอกงั้นผมต่อเอง (หลักหมื่น) ราคานี้ผมซื้อเองไม่ต้องดูตัวจริง ดูแค่รูปที่คุณส่งมาแค่นั้นพอ - เค้าก็ถามต่อว่าราคานี้ปิดเลยใช่มั้ย? ผมก็ตอบว่าใช่ แค่คุณเอาเสือมาส่ง และเสือเหมือนกับในภาพที่ส่งมาก็จ่ายเงินไม่มียึกยัก ตามราคาที่ต่อครับ แล้ววันที่รอคอยเสือก็มาถึง พรรคพวกที่อยู่พัทลุงก็ส่งเสือมาให้พรรคพวกเค้าที่อยู่นครปฐม แล้วก็เอามาส่งให้ผมที่โลตัสนครปฐม ถึงเวลาเจอกัน เค้าก็ยื่นเสืออยู่ในกล่องให้ผมชม ผมดูแป๊บเดียวก็บอกว่าเหมือนกับในรูปที่ส่งมาถือว่าถูกต้อง ผู้เขียนก็ถามคนส่งว่าจะเอาเงินสดหรือให้โอนเข้าบัญชี สุดท้ายก็โอนเข้าบัญชีไป แล้วผู้เขียนก็แถมรูปหล่อลอยองค์หลวงพ่อครน วัดบางแซะ องค์นี้เป็นเนื้อผงคลุกรักฝากไปให้ 1 องค์ ถือว่าเป็นการขอบคุณที่ดำเนินการให้ สภาพพิมพ์เป็นเขี้ยวเสือแกะหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ขนาดสูง 2.5 ซม. ก็ถือว่าเป็นขนาดกลาง ๆ ไม่ใหญ่ไม่เล็ก พอดีแขวน สภาพเป็นเสืออ้าปาก แบบนี้เรียกว่า “เสือยิงฟัน” เสือแบบนี้จะหายากมาก ๆ คือมีน้อย แต่ก็มีนะ แต่โดยรวมก็ยังจัดอยู่ในประเภทเสืออ้าปากครับ เขี้ยวเสือตัวนี้ถือว่าเป็นเสือที่ดูง่าย ทั้งผิวพรรณที่เก่ามาก ๆ จนผิวพรรณแตกเป็นเส้นเล็ก ๆ เป็นริ้ว ๆ หรือภาษาวงการพระจะเรียกว่า “ผิวขึ้นขน” และถือว่าเป็นเสือที่ดูง่ายและหายากมาก สภาพแบบนี้ การจารอักขระแบบนี้ ถือว่าเป็นลายมือจารอักขระที่นิยมและมาตรฐาน ครบถ้วนทุกจุดทุกตำแหน่ง ส่วนการแกะก็แกะได้ถูกต้องทุกสัดส่วน โดยเฉพาะนิ้วเสือจะแกะข้างละ 4 นิ้ว รวมเป็น 16 โสฬส ถือเป็นมาตรฐาน และถ้าเขี้ยวเสือถึงอายุเขี้ยวจะแตกรานถือว่าเป็นปกติ และเสือตัวนี้ได้มาไม่ต้องทำอะไร ทุกอย่างลงตัวทั้งความเก่าตามซอกตามร่อง ซอกลึกก็ OK ปล่อยไว้แบบเดิมทั้งหมด สุดท้าย ก็แค่ไปถ่ายรูปใหม่ 8 ด้าน และมาลงในหมวดเบญจภาคีเครื่องราวเพื่อท่านผู้อ่านได้ชมกันอย่างจุใจเลยครับ ------------------------------ หนุมาน หลวงพ่อสุ่น จังหวัดนนทบุรี หนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุล จังหวัดนนทบุรี ชื่อเสียงหนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุล มีมาอย่างยาวนาน ทั้งเรื่องอิทธิฤทธิ์ที่กล้าแข็ง พุทธคุณที่เข้มขลัง และเลื่องชื่อติดต่อกันมาอย่างยาวนานเกือบร้อยปี และยังจัดอยู่ในชุดเบญจภาคีเครื่องรางและโด่งดังเคียงคู่กับเสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จนมีคำกล่าวในหมู่นักเล่นเครื่องรางว่า “ถ้าเสือต้องหลวงพ่อปาน ส่วนหนุมานต้องหลวงพ่อสุ่น” ครับ หนุมานเป็นทหารเอกของพระราม มีฤทธิ์เดชมาก และมีกำลังมหาศาล มีความรวดเร็วคล่องแคล่ว ว่องไว และมีมนต์เสน่ห์ มีเมตตามหานิยมสูง และเมื่อหลวงพ่อสุ่นจัดสร้างหนุมานและปลุกเสกด้วยอาคมและเวทย์มนต์ หนุมานที่จัดสร้างจึงยิ่งทรงอานุภาพความเข้มขลัง มีคุณวิเศษป้องกันศาสตราวุธต่าง ๆ ให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี มีโชคลาภ และเมตตามหานิยม ทำกิจการเจริญก้าวหน้า สามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี หนุมานหลวงพ่อสุ่นสร้างจากรากไม้พุดซ้อนและไม้รัก ในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มจัดสร้างจะแกะจากรากไม้พุดซ้อนและรากไม้รัก ในช่วงแรกหลวงพ่อสุ่นจะนำไม้ทั้งสองมาปลูกไว้หน้ากุฏิตั้งแต่สมัยมาอยู่ที่วัดศาลากุลใหม่ ๆ ท่านได้เสกน้ำมนต์แล้วรดน้ำให้ทุกวันจนได้ที่ ได้ขนาดแล้วค่อยตามช่างมาเริ่มแกะหนุมาน ส่วนเนื้องาก็จะแกะภายหลังและมีจำนวนน้อยมาก ๆ หลวงพ่อสุ่นปลุกเสกและแจกหนุมานหลายคราวหลายวาระ แต่ที่เป็นครั้งสำคัญและเป็นที่จดจำได้ดีมีอยู่ 2 ครั้งคือ เมื่อปี พ.ศ. 2468 และปี 2470 ทั้ง 2 ครั้ง แจกหนุมานไปประมาณไม่เกิน 300 ตัว หนุมานหลวงพ่อสุ่นแบ่งออกเป็น 2 พิมพ์หลัก ได้แก่ - พิมพ์หน้าโขน ลักษณะแกะแบบมีเครื่องทรง แกะได้ละเอียดวิจิตรงดงามมาก เหมือนพวกโขนรามเกียรติ์ ลักษณะเป็นหนุมานนั่งยองมือกุมเข่าอ้าปาก และเห็นลิ้นด้วย - พิมพ์หน้ากระบี่ จะแกะเป็นศิลปะเรียบง่าย มีเครื่องทรงประดับน้อยชิ้นกว่า และอยู่ในลักษณะนั่งยอง มือกุมเข่า อ้าปาก และเห็นลิ้นด้วยเช่นกัน หนุมานหลวงพ่อสุ่นมีความเก่าแก่ถึงปัจจุบันก็ร่วม 100 ปีแล้ว เนื้อไม้ที่แกะหนุมานจะต้องแห้งเก่า เนื้อไม้จะต้องแห้งและเบา ไม่เหลือความชื้นในเนื้อไม้ หนุมานบางตัวจะมีรอยแตกจากฐานขึ้นมาถึงตัวด้านบนเลยก็มี ส่วนหนุมานที่แกะด้วยงาก็มีแกะทั้งแบบหน้าโขนและหน้ากระบี่ ส่วนใหญ่จะมีไม่มากนัก หลักสังเกตหนุมานเนื้องา ส่วนใหญ่จะแตกเป็นทาง พื้นผิวจะแตกเป็นริ้ว ๆ ในซอกลึกจะแห้งเก่าและควรเลือกเล่นศิลปะที่นิยมมาตรฐาน ส่วนศิลป์แปลก ๆ ควรเลือกเล่นศิลป์ที่แกะได้สวยและแกะได้สัดส่วน และต้องเลือกความเก่าถึงยุคต้องมาก่อน และสุดท้ายต้องเลือกซื้อที่ราคาถูกหน่อยจะปลอดภัยกว่า ถ้าผิดพลาดก็จะไม่เจ็บตัวมากนัก หนุมานหลวงพ่อสุ่น “องค์จอมทัพ” วัดศาลากุล จังหวัดนนทบุรี ส่วนหนุมานหน้าโขน “องค์จอมทัพ” ตัวนี้ได้มาร่วม 20 กว่าปีได้แล้วมั้ง ตอนนั้นไปซื้อ เบี้ยแก้วัดนายโรงชื่อ “เบี้ยทองมะเฟือง” เบี้ยลูกนี้จะลงบทความต่อท้ายราหูอมจันทร์ จำได้ตอนนั้น เจ้าของหนุมานก็ได้ใช้หนุมานมา 10 กว่าปีแล้ว บุกอย่างไรก็ไม่เปิดราคา ก็เลยฝากข้อความทิ้งไว้ว่า วันไหนเปิดราคาก็แจ้งนายหน้าไปส่งข่าวให้ที ผู้เขียนรอมาอย่างยาวนานถึง 3-4 ปี ภายหลังเจ้าของหนุมานก็เปิดราคามา 2 แสนบาท ผมก็ต่อไว้ 150,000 บาท ถ้าตกลงก็แจ้งกลับจะเอาเงินสดไปให้ภายใน 2 วัน เจ้าของก็ปรึกษาที่บ้าน ภายหลังก็ตกลงที่ 150,000 บาท ตอนนี้เรามาตรวจสอบความงามและดูง่ายของหนุมานที่ชื่อ “องค์จอมทัพ” กันดีกว่า - หนุมานตัวนี้สูง 3 ซม. ความอ้วน 1.5 ซม. ก็ถือว่าไม่ใหญ่โตนัก ผู้เขียนว่าพอดี ๆ ก็ถ้าจะ เป็นผู้นำหรือจอมทัพตัวก็ต้องใหญ่หน่อย คือร่างกายกำยำ แข็งแรง เป็นที่น่าเกรงขาม - ศิลปะการแกะ แกะเป็นพิมพ์หน้าโขน ช่างแกะแกะลวดลายต่าง ๆ ได้อย่างวิจิตร และอลังการมาก โดยเฉพาะช่วงปาก แกะเขี้ยวได้อันใหญ่มาก ดูแล้วหน้าดุมาก และน่าเกรงขามอย่างที่สุด - สภาพพื้นผิว ส่วนไม่ถูกสัมผัสจะเป็นพื้นผิวสีเหลืองหม่น ๆ มีคราบราดำอยู่ตามร่องงานแกะ ส่วนพื้นผิวที่ถูกสัมผัสคือส่วนที่ยื่นออกมา เช่น มือกุมเข่า, จมูก, เขี้ยว ผิวจะออกจัดจ้าน เนื้อไม้ผิวจะออกเหลืองเข้ม - ส่วนเรื่องน้ำหนัก หนุมานตัวนี้ถึงจะสูงใหญ่ถึง 3 ซม. แต่น้ำหนักก็จะเบามาก เนื้อไม้อายุเกือบ 100 ปี เนื้อไม้แห้งสนิทไม่มีความชื้นในเนื้อไม้หลงเหลืออยู่อีกแล้วครับ และนี่ก็คือเรื่องราวหนุมานที่ชื่อ “จอมทัพ” หนุมาน 1 ในเบญจภาคีตัวที่ ช้าง–วัดห้วย หวงที่สุดชิ้นหนึ่งเลยทีเดียวครับ
------------------- ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง จังหวัดนครปฐม
ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง
ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง ถือเป็นเบอร์ 1 ของเครื่องรางประเภทราหู อมจันทร์ทั้งหมด มีพุทธคุณโดดเด่นทางด้าน “หนุนดวงชะตา แก้ดวงตก” ใครได้บูชาราหูอมจันทร์ติดตัวแล้ว ที่ร้าย ๆ จะกลับกลายมาเป็นดี พลิกฟื้นดวงชะตาให้ไปต่อได้และยังแคล้วคลาดจากอันตรายต่าง ๆ และมีโชคลาภ และพร้อมทั้งมีความเจริญรุ่งเรืองโชติช่วงชัชวาลยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตำรับการสร้างราหูอมจันทร์ของหลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง ตกทอดมาจากลาวเวียงจันทร์ และหลวงพ่อน้อยก็มีเชื้อสายลาวด้วย หลวงพ่อน้อยจะให้ช่างแกะราหูอมจันทร์จาก “กะลาตาเดียว” โดยให้ช่างแกะเป็นทรงเสมา ภายในเสมามีรูปพระราหูครึ่งตัว กำลังประคองจันทร์ ส่วนด้านหลังปล่อยเรียบว่างไว้ให้หลวงพ่อน้อยจารอักขระต่าง ๆ ลงไป ราหูอมจันทร์หลวงพ่อน้อย ด้านหลังจะลงอักขระแบบขอมลาว ซึ่งมีลักษณะตัวกลม ๆ เป็นอักขระแบบมาตรฐานที่ถ่ายทอดจากอดีตสู่ปัจจุบัน ที่ทั้งหลวงพ่อน้อยจารเอง อาจารย์ปิ่นจาร และลูกศิษย์จารก็มี เมื่อจารเสร็จแล้วก็ให้หลวงพ่อน้อยปลุกเสกอีกที ส่วนเรื่องจารอักขระส่วนใหญ่จะจารคาถาสุริยะประภาสูตรเดียวก็มี หรือจารจันทรประภาสูตรเดียวก็มี ส่วนใหญ่ที่จารสูตรเดียวมักจะจารตอนเกิดสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคา เพราะพุทธคุณจะครบสูตรและจะแรงเต็มที่ คนยุคก่อนถึงเลือกเก็บราหูที่จารเพียงสูตรเดียว ก็เพียงพอแล้ว และที่หลวงพ่อน้อยลงมากสุดก็จะจาร 2 สูตร ทั้งสุริยะประภา และจันทรประภา ก็คือสูตรธรรมดาทั่วไป เพื่อแจกให้ประชาชนทั่วไป และลูกศิษย์ไปบูชากัน
ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง เลี่ยมเงินเก่าแต่เดิม ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง ที่นิยมสุด ได้แก่ทรงเสมา มีทั้งขนาดเล็ก, กลาง, ใหญ่ และวันนี้หมวดเบญจภาคีเครื่องราง ผู้เขียนขอเลือกมาให้ผู้อ่านได้ชมราหูอมจันทร์สัก 2 อัน ที่มีความสวยมาก และเก็บมายาวนานเกือบ 30 ปีเลยทีเดียว ชิ้นแรกเป็นราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง เป็นราหูเปลือย สภาพสวยมาก ๆ ซึ่งเป็นฝีมือการแกะราหูของช่างสีใหญ่ ซึ่งแกะได้เรียบร้อย ฝีมือระดับชั้นครูเลยทีเดียว สภาพกะลาราหูอมจันทร์เป็นราหูอมจันทร์ที่แกะราหูอมจันทร์ได้งามสง่ามาก ๆ การลงใบมีดเครื่องมือแกะลงได้คมและเรียบร้อย ไม่มีรอยแกะที่พลาดและฉีก และไม่มีรอยเสี้ยนกะลาวิ่งผ่าน ซึ่งจะทำให้ลดความงามลงไป เมื่อก่อนตอนได้ราหูองค์นี้มาใหม่ ๆ ผิวพรรณเป็นราหูเผือกออกขาวอมน้ำตาล ผู้เขียนก็เก็บไว้ไม่ได้ใช้เพราะสวยจัด เดี๋ยวผิวพรรณจะเสีย เวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี ผิวพรรณก็งอกขึ้นมาเป็นผิวขาว ๆ ขึ้นปกคลุมด้านหน้าทั้งหมด ส่วนด้านหลังจาร 2 สูตร ทั้งสุริยะประภาและจันทรประภา และเมื่อก่อนเกือบ 30 ปี ลายมือจารแบบนี้ถือว่าเป็นลายมือนิยม ถือเป็นมาตรฐานวงการเลยทีเดียว ปัจจุบันลายมือมาตรฐานแบบนี้ไม่เห็นแล้ว คือโดนเก็บเข้ารังหมด พวกเซียนทั่วไปจึงหันไปเล่นลายมือเหลี่ยม ๆ แล้วช่วยกันดันว่าเป็นหลวงพ่อน้อยจารและรับซื้อด้วย แล้วแบบนี้ใครจะไม่เชื่อละ และราหูเผือกองค์นี้ได้ลงหนังสือรวมเล่มราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง แบบเต็มหน้าด้วยครับ ชิ้นที่ 2 ราหูอมจันทร์เลี่ยมเงินเก่าแต่เดิม ไม่ได้เอามาสวมภายหลัง ให้สังเกตด้านหน้าลวดลายจะขนานกันกับงานแกะราหู ส่วนด้านหลังก็จะมีแผ่นหลังปิดและมีการจารอักขระ เป็นจารทรงน้ำเต้า 3 ชั้น เมื่อประกอบเสร็จแล้วแผ่นหลังต้องแน่นไม่หลวม ส่วนใหญ่ก็จะเอาขอบเงินขององค์อื่นมาสวมแทน แล้วปิด ก็ลองสังเกตดูว่าขอบเงินที่พับไปกดแผ่นเงินถ้าไม่เรียบร้อยมีรอยยับหรือฉีกขาดก็แสดงว่าสวมใหม่หรือแกะออกมาดูแล้วปิดเข้าไปใหม่ สภาพพิมพ์เป็นราหูที่แกะแม่พิมพ์จากช่างสีใหญ่เช่นกัน และเจ้าของเดิมได้นำไปเลี่ยมเงินภายหลัง และที่บอกว่าเลี่ยมเงินจากวัดผู้เขียนเคยไปสอบถามช่างสีใหญ่ตอนนั้นช่างสีอายุ 80 กว่า ช่างสีก็บอกว่า ทางวัดแกะและให้หลวงพ่อน้อยจารและปลุกเสกอย่างเดียว ส่วนเลี่ยมเก่าจะเลี่ยมเงิน ทอง หรือนาก เจ้าของราหูไปเลี่ยมเองทั้งนั้นแหละครับ และช่างสีก็จากไปตอนอายุ 99 ปี ถือว่า วัดศรีษะทองสูญเสียช่างฝีมือแกะราหูชั้นเยี่ยมไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งลูกชายก็แกะราหูก็ไม่เหมือนช่างสีนะครับ ผู้เขียนเคยไปขอดูฝีมือมาแล้ว ผู้เขียนเก็บราหูสวยแชมป์ร่วม 20 องค์ และโบราณอีก 20-30 องค์ คือเล่นมานานมากแล้ว เรียกว่าผู้เขียนเริ่มเล่นพระก็เลือกเล่นราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย เป็นอย่างแรกเลยทีเดียว ก็คือแม่นทั้งพิมพ์และลายมือจารครับ ------------------ เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง กรุงเทพฯ
เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง กรุงเทพฯ “เบี้ยทองมะเฟือง”
เบี้ยแก้เป็นเครื่องรางชั้นเยี่ยมที่มีคุณวิเศษอเนกอนันต์ โดดเด่นในด้านป้องกันเรื่องคุณไสย กันผีสาง ลมเพลมพัด และอื่น ๆ อีกมากมาย กล่าวคือ ป้องกันสิ่งไม่ดี หรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่าง ๆ เข้าตัว หรือดีทางด้านแก้ไขก็คือ ผู้ที่โดนของ, โดนผีเข้า ก็ใช้เบี้ยแก้ทำน้ำมนต์ประพรมหรือดื่มกิน อาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้น ถือว่า เบี้ยแก้มีคุณวิเศษครอบจักรวาล ทั้งป้องกันและปัดเป่าจากสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง ผู้ที่พกเบี้ยแก้ติดตัวจะแคล้วคลาด ปลอดภัย จากเรื่องไม่ดีต่าง ๆ เหล่านี้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง เป็นอาจารย์ยุคเก่าหรือยุคแรก ๆ ร่วมสมัยเดียวกันกับหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ท่านเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญวิปัสสนาธุระ มีพระเวทย์วิทยาคมขลังยิ่งนัก การสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด ท่านจะสร้างและมอบให้เฉพาะผู้ที่ศรัทธามาขอให้ท่านทำเท่านั้น และจะให้ผู้ที่ต้องการเบี้ยของท่านจะต้องเตรียมของ 4 อย่างไปถวายให้ท่านจัดทำเบี้ย ได้แก่ เบี้ยพู, ปรอท, ชันโรงใต้ดิน และแผ่นตะกั่วนม ส่วนกรรมวิธีจัดสร้าง หลวงปู่รอดจะนำปรอทบรรจุในเบี้ย ปิดปากเบี้ยด้วยชันโรงใต้ดิน แล้วใช้แผ่นตะกั่วหุ้มปิดตัวเบี้ย มีทั้งหุ้มปิดทั้งตัว และบางตัวก็จะหุ้มเปิดหัวเบี้ยไว้ก็มี จากนั้น หลวงปู่รอด จะลงอักขระยันต์บนแผ่นตะกั่วโดยจะลงยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และเมื่อปลุกเสกเสร็จ หลวงปู่รอดก็จะมอบให้ผู้ที่ศรัทธาที่เตรียมของมาให้ ผู้ที่ได้รับมอบส่วนใหญ่จะไปให้ช่างถักเชือกมีทั้งหูเดียวและ 2 หูก็มี เมื่อถักเสร็จแล้ว ก็จะไปลงรักหรือยางไม้ เพื่อเป็นการรักษาให้เบี้ยแก้คงทนอยู่ได้นาน ๆ และก็มีบางท่านก็นำไปปิดทองทั้งลูก จนภายหลังคนส่วนใหญ่จะเรียกเบี้ยปิดทองเก่าพวกนี้ว่า “เบี้ยไข่ทอง” ก็มี
เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง กรุงเทพฯ “เบี้ยทองมะเฟือง”
ประวัติการได้ครอบครอง เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด ลูกนี้ผู้เขียนได้มานานมากแล้ว น่าจะ 20 กว่าปีขึ้นไป แล้วเคยเขียนบทความเบี้ยปู่รอด “เบี้ยทองมะเฟือง” ไปแล้วครั้งหนึ่ง จำได้ตอนนั้นยังหนุ่ม ยังตระเวนหาของโดยมีนายหน้าหาพระซึ่งเป็นคนพื้นที่แถวนครชัยศรี เป็นคนนำทางไปบ้านนี้, บ้านโน้น และสุดท้าย ก็ไปบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านทำสวน เป็นชายแก่สูงอายุ และมีเบี้ยแก้ปิดทองเก่าอยู่ 1 ตัว นายหน้าก็หันมาถามว่าบ้านนี้มีเบี้ยปิดทองเก่าสวยอยู่ 1 ตัว จะลองเข้าไปดูมั้ย ผมก็บอกได้สิ ลุยเลย ก็เข้าไปเจอเจ้าของบ้าน และนายหน้าก็รีบสอบถามว่า เบี้ยแก้ปิดทองของลุงยังอยู่มั้ย ลุงก็ตอบว่ายังอยู่ดี นายหน้าก็รีบบอกว่าพอดีผ่านมาทางนี้ มาหาราหูอมจันทร์ก็เลยชวนพรรคพวกมาขอชมดูหน่อย เผื่อจะชอบ นายหน้าเลยเอ่ยปากขอชมหน่อยได้ไหม ลุงก็เดินเข้าไปในห้องครัวหลังบ้านเปิดลิ้นชักแล้วหยิบถุงผ้าเก่า ๆ ออกมา ถุงผ้าภายในบรรจุเบี้ยแก้ และมีข้อความเขียนใส่กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ว่า เบี้ยหลวงปู่รอด วัดนายโรง “เบี้ยทองมะเฟือง” และถุงที่ใส่เบี้ยแก้นั้นคนจีนจะเรียก “ไถ้” เมื่อลุงหยิบเบี้ยแก้ออกจากไถ้ให้ผู้เขียนดูเท่านั้นแหละ เห็นแล้วก็ชอบเลย ก็ลองสอบถามลุงว่า ถ้าผมจะขอแบ่งเบี้ยลูกนี้ไปบูชาจะได้มั้ย ลุงก็ตอบว่าเบี้ยแก้ลูกนี้เป็นของส่วนกลางก็คือใครจะใช้ก็ไปหยิบในลิ้นชัก ใช้เสร็จก็เอามาวางไว้ที่เก่า ทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว ลุงเจ้าของเบี้ยก็หันมาถามผู้เขียนว่าจะเอาจริง ๆ เหรอ ต้องเอาใครมาดูอีกหรือเปล่า? ผมเลยบอกว่าผมต้องการเอาไปไว้ใช้จริง ๆ ครับ และไม่ต้องเอาใครมาดูอีกแล้ว คือผมดูจบแล้ว เหลือแต่ราคาเท่านั้น แล้วลุงก็บอกว่า งั้นอาทิตย์หน้าวันนี้คุณมาใหม่ เดี๋ยวลุงจะปรึกษากับลูก ๆ แล้วจะบอกราคาให้ว่าเป็นราคาเท่าไหร่ แล้ววันนัดก็มาถึงผมก็ไปตามนัด ลุงกับลูก ๆ นั่งรออยู่ก่อนแล้ว ก็เลยสรุปลุงเปิดราคาไว้เท่าไหร่ ลุงก็บอกปรึกษากับลูก ๆ แล้ว เปิดราคาที่ 120,000 บาท ผมก็ร้องว่าอู้ฮูราคาสูงจัง ลุง ก็อธิบาย (ขายของ) พร้อมทั้งคุณสมบัติต่าง ๆ ให้ฟัง ผมก็พยักหน้าว่าครับ ครับ ก็เลยสอบถามลุงว่าลดได้อีกมั้ย ลุงก็บอกว่าถ้าจะลดก็ลดเหลือ 1 แสนบาทถ้วน ผมก็บอกว่าลดอีก 1 หมื่นบาท เหลือ 9 หมื่นบาท ไปแบ่งกันลงตัวพอดี ลุงก็ไปปรึกษากับลูก ๆ ก็พยักหน้า งั้นก็ตกลงครับ ก็จ่ายเงินสดไป 9 หมื่นบาท เท่าที่จำได้ก็ประมาณนี้ครับ สภาพเบี้ยแก้ “เบี้ยทองมะเฟือง” เป็นเบี้ยขนาดมาตรฐาน น้ำหนักปานกลาง เมื่อลองเขย่าดูมีเสียงปรอทวิ่งเคลื่อนตัวได้ดีไม่แน่นจนเกินไป และเมื่อเอากล้องส่องดูจะเห็นได้ว่า เบี้ยตัวนี้จะ ลงรักก่อน แล้วลงชาดทับอีกที แล้วค่อยปิดทองแท้ทั้งตัวเป็นขั้นตอนสุดท้าย ลายเชือกถักเป็นแบบเรียบ ๆ เป็นเส้นยาว และเป็นทาง ๆ ตลอดทั้งลูก ส่วนด้านบนก็ถักห่วงไว้แขวน 1 ห่วง สภาพโดยทั่วไปเป็นเบี้ยแก้ หลวงปู่รอด ที่สวยสมบูรณ์มาก ๆ ถือว่าเป็นแชมป์ในตระกูลเบี้ยปู่รอดเลยทีเดียว และให้ทุกท่านลองถ่างภาพขยายใหญ่ ลองดูทองตามตัวเบี้ย ทองที่ปิดมาจนถึงปัจจุบันจะแห้ง ทองสีจะออกเหลืองหม่น ๆ ไม่มีความเหลืองสุกปลั่ง ตามร่องเชือกจะมีฝุ่นผงต่าง ๆ ขี้ธูปบ้าง ตอนนี้เรามาวิเคราะห์ชื่อ “เบี้ยทองมะเฟือง” กันดีกว่า จากคำบอกเล่าของลุงที่เป็น เจ้าของเดิมเคยบอกว่า ความหมายคงจะคล้าย ๆ ลูกมะเฟือง พอเวลาสุกก็จะกลายเป็นสีเหลืองทอง ผู้เขียนก็ว่าความหมายก็ใกล้เคียงดีใช้ได้ เพราะดูจากลายถักเชือกเป็นทาง ๆ ยาว ๆ เป็นเส้นเอียงรอบตัวเบี้ยเป็นแนวตลอดทั้งตัวเบี้ย ลายถักนี้ถ้าจะเปรียบกับลูกมะเฟืองก็คงจะเป็นกลีบมะเฟือง และการปิดทองเบี้ยทั้งลูกก็จะเปรียบเหมือนตอนลูกมะเฟืองสุกเต็มที่หรือแก่เต็มที่แล้ว ผลมะเฟืองจากสีเขียวก็จะกลายเป็นสีเหลืองทองครับ ความหมายของชื่อ “เบี้ยทองมะเฟือง” คงประมาณนี้ครับ ถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียงแหละครับ และต้องขอชมคนตั้งชื่อคนแรกว่าตั้งชื่อได้ดี และเป็นมงคลนาม จริง ๆ และเปรียบเทียบได้ดีจริง ๆ ครับ และเบี้ยปู่รอด “เบี้ยทองมะเฟือง” ลูกนี้คือสมบัติที่หวงแหนอีกชิ้น เปรียบเสมือนก้อนทองพกติดตัว ซึ่งเป็นทั้งสิ่งมงคลที่มีค่าและมีความหมายอย่างสูงครับ
|