พระเครื่อง
- หมวด 4 จตุรเทพโคตรแชมป์
- พระสุดหวงของ ช้าง–วัดห้วย
- หมวดพระสวยขั้นเทพ-มีไว้แค่โชว์
- หมวดรวมพระแชมป์ยอดนิยม
- พระเบญจภาคี
- พระปิดตายอดนิยม
- เครื่องรางยอดนิยม
- พระเครื่องเนื้อโลหะยอดนิยม
- หมวดพระหลักฝากขาย เกรดพรีเมี่ยม
- พระเครื่องเนื้อดินยอดนิยม
- พระชุดเล็กยอดนิยม
- หมวดมรดกพระเครื่อง อ.เต็ก
- หมวดพระเครื่ององค์พิเศษ
- พระทวารวดี และเทวรูปขนาดเล็ก
- หมวดพระแชมป์–ราคาแรงส์
- หมวดพระแปลกตาแต่แท้ชัวร์
- หมวดพระแชมป์–ราคาเบา
- หมวดพระยอดหายาก
หมวดพระสวยขั้นเทพ-มีไว้แค่โชว์
005 ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อไตร วัดศรีษะทอง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ถ้าจะกล่าวถึง ราหูอมจันทร์ที่เป็นเบอร์ 1 ของเครื่องรางประเภทราหูอมจันทร์ทั้งหมด ต้องยกให้ราหูอมจันทร์ของหลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง จังหวัดนครปฐม เป็นที่ 1 มาอย่างต่อเนื่อง “วัดศรีษะทอง” เป็นต้นกำเนิดการสร้างราหูอมจันทร์ ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อไตร อดีตเจ้าอาวาส องค์แรกของวัดศรีษะทอง และมาโด่งดังสุดขีดก็สมัยหลวงพ่อน้อยเป็นเจ้าอาวาส ราหูอมจันทร์ของวัดศรีษะทอง เป็นที่ต้องการของทุกคนที่ชอบเล่นเครื่องราง แต่วันนี้เราจะกล่าวถึงราหูอมจันทร์ หลวงพ่อไตร วัดศรีษะทอง จังหวัดนครปฐม ซึ่งข้อมูลมีน้อยมาก ๆ และไม่ค่อยมีคนเขียนถึง ประวัติการได้ครอบครอง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2555 ผู้เขียนก็ได้รับข่าวจากนายหน้าแถวนครชัยศรีว่า เจอราหูศิลป์แบบโบราณ แต่แกะได้สวยมาก และสมบูรณ์มาก นายหน้าดูไม่ออกว่าเป็นของหลวงพ่อน้อย หรือเปล่า จึงชวนผู้เขียนไปดูที่นครชัยศรี ทันทีที่เข้าไปถึงบ้านก็เป็นสวนดอกไม้ ขุดเป็นร่อง เป็น แปลง ๆ นายหน้าก็ตะโกนเรียกเจ้าของบ้านว่า มาหาขอคุยหน่อย เจ้าของบ้านก็ถามว่ามีอะไรหรือ นายหน้าก็ตอบว่า ผมพาลูกพี่ผมมาดูราหู องค์ที่วันนั้นให้ดูหน่อยจะได้ไหม เจ้าของบ้านก็ตอบว่าดู ดูได้ แต่ผมไม่ได้ขายครับ นายหน้าก็ตอบไปก่อนว่าได้ ไม่ขายก็ไม่เป็นไร เจ้าของบ้านก็ไปเอาออกมาให้ดู ทันทีที่ผมเห็นราหูองค์นี้ผมก็พูดออกมาว่า ราหูองค์นี้เป็นศิลปะแบบโบราณ คือเป็นยุคแรก ๆ ของวัดศรีษะทอง ประมาณว่า คงเป็นของหลวงพ่อไตร หรือหลวงพ่อตัน แต่หลวงพ่อตันจะเก่งทางด้านหมอยา ส่วนลายมือจารด้านหลังก็จะคล้าย ๆ ยุคหลวงพ่อน้อย แค่วางอักขระสลับกันบ้างเล็กน้อย อักขระตัวอื่น ๆ ก็จะเหมือน ๆ กัน ผมจึงหันไปถามเจ้าของบ้านว่า ราหูองค์นี้เป็นของหลวงพ่อไตรใช่มั้ย เจ้าของบ้านก็ยิ้ม ๆ และพูดว่า คุณนี่ดูเก่งจริง ๆ ราหูองค์นี้เป็นมรดกตกทอดกันมา ตระกูลพ่อผมเป็นลูกหลานหลวงพ่อไตร จากคำบอกเล่าจากคนรุ่นก่อน ๆ ราหูที่แกะแบบนี้มีแค่ 9 องค์เท่านั้น และแจกเฉพาะลูกหลานเท่านั้น ครอบครัวผมก็มีแค่องค์เดียว ก็ห่อเก็บไว้ในเก๊ะตังค์ (ลิ้นชักใส่เงิน) เจ้าของบ้านก็ถามว่า คุณมาจากไหน ผมก็ตอบว่า มาจากในตัวเมืองนครปฐม เจ้าของบ้านก็ถามต่ออีกว่าศึกษาราหูมานานแล้วใช่มั้ย ใช่ครับแต่ผมเล่นแต่หลวงพ่อน้อยแบบนิยมมาตรฐาน ผมก็เลยสะกิดให้นายหน้าเจรจาขอซื้อเลย เจ้าของบ้านก็ตอบว่า ต้องขอโทษ ราหูองค์นี้เป็นมรดกของครอบครัว ผมคงขายให้ไม่ได้หรอก แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอนวันหนึ่งผมเกิดมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ผมก็ยินดีจะขายให้คุณที่เลือกคุณก็เพราะคุณมีความรู้เรื่องราหูอย่างแตกฉาน ทั้งราหูยุคเก่าแบบโบราณ หรือราหูยุคหลวงพ่อน้อย หลังจากนั้นคุยกันอีกสักพักก็ขอลากลับ ระหว่างทางกลับก็คุยกับนายหน้าว่า ราหูองค์นี้ผมชอบ เฝ้าเอาไว้ให้ดี อย่าให้คนอื่นเอาไปละ และว่าง ๆ ก็ลองไปสืบดูว่า เป็นลูกหลานหลวงพ่อไตรจริงมั้ย นายหน้าหายไป 1 อาทิตย์ ก็โทรมาบอกว่า บรรพบุรุษเป็นพวกลาวอพยพมาตั้งถิ่นฐานแถว ๆ หลังวัดศรีษะทอง ลูกหลานบางคนก็มีครอบครัวย้ายไปราชบุรี และไปเพชรบุรีก็มี ประมาณนี้ ผมก็ถามกลับว่าราหูยังอยู่ดีหรือเปล่า ยังอยู่ดีครับ หลังจากนั้นผมก็ให้นายหน้าแวะไปหาบ่อย ๆ ซื้อขนมไปฝากบ้าง ทำแบบนี้อยู่หลายปี จนเมื่อปีที่แล้วต้นปี 60 เจ้าของบ้านโทรมาหานายหน้าและถามว่า ผมยังอยากได้ราหูองค์นี้อยู่หรือเปล่า นายหน้ารีบตอบสวนไปว่า ยังอยากได้ครับ แล้วพี่ขายเท่าไรครับ ที่ผมจะขายก็เพราะว่าหลานชายติดยา ถ้าไม่ขายมันคงจะขโมยไปขายถูก ๆ แน่ เงินในเก๊ะตังค์ถูกจิ๊กไปเรื่อยเลย ผมจึงปรึกษากับ ที่บ้านว่าขายดีกว่า ถ้าไม่ขายก็อาจจะไม่ได้เงินเลยก็ได้ คุณลองไปเสนอดูว่าพี่คนนั้นจะตกลงมั้ย ราหูองค์นี้ผมขาย 1 แสนบาทถ้วน ลดไม่ได้ แล้วแถมราหูแบบโบราณเก่า ๆ ให้ผมอีก 1 องค์ เอาอันใหญ่ ๆ ก็ได้ เมื่อผมทราบข่าวก็ให้นายหน้าโทรไปนัดได้เลย และตกลงตามที่เสนอมา รุ่งขึ้น ก็เดินทางไปเบิกเงิน 120,000 บาท และไปหาเจ้าของพระโดยด่วน เมื่อถึงบ้านก็ขอดูราหูว่ายังเหมือนเดิมอยู่มั้ย ยังเหมือนเดิม ผมก็ยื่นเงิน 1 แสนพร้อมราหูโบราณ 1 กล่องให้เลือก เจ้าของบ้านเลือกอันใหญ่สุดแล้วมีหูเจาะรู ผมก็ถามว่า ทำไมเลือกอันใหญ่จัง แล้วจะแขวนได้หรือ เจ้าของบ้านก็ตอบว่าผมไม่ได้แขวน จะตอกติดไว้ตรงหัวเสาไว้คุ้มครองบ้านและใหญ่ขนาดนี้คงไม่มีใครขโมยไปแน่ หลังจากนั้นก็ขอตัวกลับก่อน และก็ขับรถไปส่งนายหน้าพร้อมจ่ายค่าเสียเวลาตั้งหลายปีไป 2 หมื่น เป็นอันว่าพอใจและลงตัว ทุกฝ่ายแฮปปี้ หลักการพิจารณาราหูอมจันทร์ ศิลป์โบราณ สายวัดศรีษะทอง ราหูอมจันทร์ ศิลป์โบราณ ศิลปะสวย ๆ นั้นหายากมาก ๆ โดยเฉพาะราหูศิลป์โบราณสายวัดศรีษะทองยิ่งสวย ยิ่งหายาก ราคาสูงมาก เซียนใหญ่บางคนจะเลือกเก็บแต่ราหูศิลป์โบราณ ส่วนศิลป์มาตรฐานไว้ขาย ราหูศิลป์โบราณอายุประมาณต้องกว่าร้อยปีขึ้นไป ถ้าสายวัดศรีษะทองก็ต้องเริ่มจากหลวงพ่อไตร เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดศรีษะทอง ก็สร้างราหูอมจันทร์ก็ไม่ได้มากมายเท่าไร ผู้ที่จะศึกษาค้นคว้าก็ยากไม่มีข้อมูลยืนยันได้แน่นอน มีแต่จากคำบอกเล่าจากลูกหลาน ส่วนตัวผู้เขียนเองจะคุ้นเคยกับราหูศิลป์โบราณมากเป็นพิเศษก็ซื้อเก็บมาก็หลายสิบชิ้นแล้ว แต่องค์ที่มาลงให้ชมอยู่นี้สวยสุด ผมชอบขนาดให้พี่ ๆ น้อง ๆ ใส่ทุกคนเลย ส่วนราหูองค์ที่ลงให้ชมอยู่นี้ เดิมตั้งใจจะไม่ให้ใครเห็นเลยไปเลี่ยมจับขอบทอง แต่ภายหลังเปลี่ยนใจ อยากจะให้เพื่อน ๆ ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บช้างได้ศึกษาและมีความรู้มากขึ้น จึงเอาราหูเลี่ยมทองไปถ่ายรูป ปกติพระเลี่ยมทองผู้เขียนจะไม่ถ่ายรูปเพราะเวลาอธิบายจะเห็นไม่ชัดเจนเท่าที่ควร แต่ราหูองค์นี้อนุโลมเพราะอธิบายกว้าง ๆ พอเข้าใจก็ OK แล้ว หลักการพิจารณาราหูศิลป์โบราณ - อันดับแรกให้ดูรูปทรงก่อน ถ้าเป็นศิลป์โบราณสมัยนั้น จะยังไม่มีทรงเสมา จะมีก็แค่ทรงกลม, ทรงสามเหลี่ยม, ทรงรูปไข่ อย่างองค์ที่ลงอยู่นี้ผู้เขียนยังเรียกพิมพ์ทรงไม่ถูกเลย ถ้าจะให้จินตนาการแบบช่างแกะ น่าจะคล้าย ๆ รูปเต่า ก็คือช่างจะแกะเป็นทรงรี ๆ คล้ายรูปไข่ และขยักขอบข้างยื่นออกมาเหมือนขาทั้ง 4 ข้าง ด้านล่างแกะเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็กนั้นคงจะแทนหางเต่า ขอบด้านบนแกะขอบได้เรียวกว่าด้านล่างนั้นแทนหัวเต่าและเต่าก็เป็นสัญลักษณ์ของคำว่า “อายุยืน” ผู้เขียนประเมินช่างแกะว่าคงจะแกะให้คล้ายเต่ามากกว่า นี่แค่ขอบ ๆ เท่านั้น ความหมายยังขนาดนี้ - อันดับสองให้ดูธรรมชาติความเก่า ราหูอมจันทร์ศิลป์โบราณ อายุตั้งแต่เกือบร้อยถึงร้อยกว่าปี ความเก่า ความจัดจ้าน หนึกนุ่ม เหี่ยวย่น คราบฝุ่นตามซอกต้องมี ถ้าเจอราหูศิลป์โบราณแต่เกลี้ยง ๆ สะอาด ๆ ตีได้เป็น 2 อย่าง หนึ่งคือเก๊เลย ให้ดูตามร่อง, ขอบร่อง, จะไม่มีความคม หลงเหลืออยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นของเก๊ตามร่อง ขอบร่องแกะจะมีความคมอยู่ สองคือแท้แต่โดนล้างทำความสะอาด คราบฝุ่น, ความเก่าจะหมดไป ให้ดูศิลป์ของราหู ความคมตามร่องแกะจะต้องมนไม่คมถึงจะเก่าจริง บางแห่งขอบร่องแกะอาจจะบิ่นฉีกเพราะอายุของกะลาเมื่อถูกน้ำจะเปื่อยยุ่ย ศิลป์ของพระราหูแบบโบราณส่วนใหญ่จะแกะไม่ค่อยสวย อาจจะเป็นฝีมือชาวบ้านแกะ แต่ถ้าเจอศิลป์สวย ๆ ช่างแกะจะแกะได้อย่างวิจิตร บรรจงสรรสร้างในรูปแบบต่าง ๆ แต่ถ้าจะให้ผู้เขียนแนะนำ ควรเลือกขนาดพอเหมาะที่จะมาเลี่ยมทองขึ้นคอได้ และเป็นศิลป์ที่สวยงาม สภาพสมบูรณ์แกะได้อย่างละเอียด อย่างเช่น ราหูเลี่ยมทององค์ที่มาลงให้ชมอยู่นี้ ให้ดูที่เกศลงมา ราหูยุคเก่าจริง เกศขององค์พระราหูจะคล้าย ๆ แก้วแชมเปญคว่ำลักษณะดังในรูป และมีลักษณะยาว จะเกศแหลมเรียวก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะยาว ตรงโคนเกศหรือจะเรียกว่าบนเหนือหน้าผาก จะแกะคล้ายตัวดับเบิ้ลยู (w) ส่วนใบหน้าก็แกะได้ดุจริง คือใบหน้าจะแกะกลมใหญ่ และแกะดวงตากลมใหญ่ และแกะเขี้ยวยาว นี่คือใบหน้าของพระราหูซึ่งมีความหมายว่า มีอำนาจ มีบารมี และน่าเกรงขาม ส่วนลำตัวจะมีสร้อยสังวาลย์ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ส่วนมือประคองจันทร์ในลักษณะปากงับ ดวงจันทร์เล็กน้อย ตรงดวงจันทร์จะมีจารอักขระตัว (นะ) 1 ตัว พื้นที่ว่างข้าง ๆ องค์พระราหูจะแกะเป็นตารางไขว้ไปไขว้มาอย่างละเอียด ผู้เขียนขอชมว่าช่างที่แกะพระราหูองค์นี้แกะได้อย่าง ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาเลย และนี่แหละคือศิลปะต้นกำเนิดราหูอมจันทร์ของสาย วัดศรีษะทอง ตั้งแต่ยุคหลวงพ่อไตรลงมา ศิลปะก็จะแปรเปลี่ยนไป เช่น ยุคหลวงพ่อน้อย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือรูปทรงของเหรียญ ก็จะเปลี่ยนเป็นทรงเสมา เกศขององค์พระราหูก็จะสั้นลงใบหน้าของพระราหูก็จะเหลี่ยมขึ้น เป็นสี่เหลี่ยมคางหมู อย่างอื่นก็จะคล้าย ๆ ของเดิม ลักษณะจารด้านหลังราหูอมจันทร์ อักขระจารด้านหลัง หรือจะเรียกลายมือจารก็ได้ ลักษณะก็จะคล้าย ๆ ยุคของหลวงพ่อน้อย อักขระจะเป็นขอมลาว ลักษณะตัวกลม ๆ และจารปิดท้ายด้านล่างด้วย นะ 21, โม 12 และมีจารตัว ฤๅ ฦๅ ก็มี อักขระทั้งหมดจะจารประมาณ 30 กว่าตัวขึ้นไป คือจะจารรวมทั้งหมดทั้งสองสูตรรวมกัน แต่จะมีความแตกต่างจากลายมือยุคหลวงพ่อน้อยไม่มากนัก เช่น การวางอักขระบางตัวสลับที่กัน สรุปแล้วลายมือให้ดูภาพรวมจะดีกว่า เพราะจะอธิบายได้ลำบาก และสิ่งสุดท้ายอีกอย่างต้องขอเตือนไว้ว่า ราหูศิลป์โบราณบางองค์จะไม่ได้จารด้านหลังก็มี และบางองค์มาจารใหม่ก็มี ให้สังเกตในร่องจารจะต้องเก่าไม่เกลี้ยงสะอาดไม่เงา เท่าที่เขียนมา ราหูศิลปะโบราณยุคหลวงพ่อไตร ก็อธิบายได้ละเอียดและครอบคลุมพอสมควรแล้ว และอย่าลืม ราหูอมจันทร์ศิลป์โบราณหลวงพ่อไตร วัดศรีษะทอง ถ้าสวยสมบูรณ์ หน้าดุ เขี้ยวยาว จารเต็มหลังขนาดพอเหมาะนั้นหายากสุด ๆ และราคาแพงมาก ๆ
ช้าง–วัดห้วย |
004 หนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน จังหวัดนนทบุรี (องค์จอมทัพ)หนุมาน หลวงพ่อสุ่น พิมพ์หน้าโขน
สุดยอดเครื่องราง ประเภทลิงหรือหนุมาน ที่บรรดานักสะสมต่างเชื่อมั่นในพุทธคุณ และทุก ๆ คนยกย่องให้เป็นอันดับ 1 ได้แก่ หนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน จังหวัดนนทบุรี หนุมานหลวงพ่อสุ่นจัดอยู่ในชุดเบญจภาคี เครื่องรางของขลังที่ใคร ๆ อยากเป็นเจ้าของ อยากได้ครอบครอง แต่ก็ไม่ใช่จะหามาได้ง่าย ๆ หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน เป็นชาวนนทบุรี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดศาลากุน ได้รับฉายาว่า “จันทโชติ” หลวงพ่อสุ่นได้จำพรรษาที่วัดศาลากุนมาโดยตลอด ภายหลังได้แต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาส หลวงพ่อสุ่นได้พัฒนาวัดศาลากุนจนเจริญรุ่งเรือง และได้ศึกษาวิชาอาคมจนแก่กล้า และเป็นที่ยอมรับของทุก ๆ คน หลวงพ่อสุ่นเริ่มคิดจะสร้างหนุมานสมัยที่ท่านยังเป็นพระลูกวัด ตอนนั้นท่านได้เริ่มปลูกต้นรัก และต้นพุดซ้อน ไว้บริเวณหน้ากุฏิ รดน้ำมนต์ทุกวันจนเติบใหญ่ ภายหลังหลวงพ่อสุ่นได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงได้เริ่มสร้างหนุมานโดยท่านได้เรียนวิชาสร้างหนุมานมาจาก “พระนาคทัศน์” จากนั้นท่านได้เริ่มทำพิธีบัตรพลีก่อนทำการขุด เมื่อท่านได้ขุดต้นรักและต้นพุดซ้อนแล้ว ท่านก็นำไม้ทั้งสองไปตากแห้งจนได้ที่แล้ว ท่านก็ให้พระลูกวัดไปตามช่างที่มีฝีมือทางด้านนี้มาแกะ (ว่ากันว่า ค่าแกะหนุมานราคาตัวละ 1 บาท) เมื่อแกะครบตามจำนวนที่ต้องการแล้ว จึงทำพิธีปลุกเสกโดยใช้คาถาหัวใจหนุมานและเพ่งกสิณไปในบาตรจนหนุมานที่อยู่ภายในบาตรกระโดดโลดเต้น หลวงพ่อสุ่นปลุกเสกหนุมานแบบนี้ทุก ๆ วัน จนครบ 3 เดือน จึงเป็นอันเสร็จพิธี แล้วค่อยแจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ของท่าน และผู้ที่สนใจมาขอไว้บูชา หนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ - พิมพ์หน้าโขน ช่างจะแกะในลักษณะนั่งยอง ๆ ชันเข่า มือกุมเข่าทั้งสองข้าง และแกะใบหน้าหนุมานในลักษณะอ้าปากแยกเขี้ยว และแกะรายละเอียดทั่วไปในแบบทรงเครื่อง แกะได้ละเอียดและดุดัน พิมพ์หน้าโขนจะเป็นพิมพ์นิยมที่สุด และหายากมาก ๆ - พิมพ์หน้ากระบี่ ช่างจะแกะในลักษณะนั่งยอง ๆ ชันเข่า มือกุมเข่าทั้งสองข้างเช่นกัน แต่ช่างจะแกะแบบเรียบง่ายไม่ได้มีรายละเอียดมากนัก ภายหลังเมื่อไม้ทั้งสองชนิดหมดลงก็มีการนำงาช้างมาแกะและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเช่นกัน แต่เนื้องามีจำนวนไม่มากนัก พุทธคุณของหนุมาน หลวงพ่อสุ่น จะโดดเด่นทางด้านมหาอำนาจ คงกระพันมหาอุด และเมตตามหานิยม มีครบแทบทุกอย่างเลยก็ว่าได้ สุดยอดจริง ๆ ประวัติการได้ครอบครอง
หนุมาน หลวงพ่อสุ่นตัวนี้ได้มาจากเจ้าของ “เบี้ยทองมะเฟือง” ที่ได้เขียนลงในเว็บช้างเมื่อครั้งก่อน หลังจากที่ผมได้ “เบี้ยทองมะเฟือง” ไปแล้ว หลังจากนั้นไม่นานนัก เพื่อนที่ไปด้วยกันได้โทรมาคุยให้ฟังว่า บ้านนี้ยังเหลืออีก 1 ชิ้นที่หวงสุด ๆ ก็คือ หนุมาน หลวงพ่อสุ่น พิมพ์หน้าโขน แต่ตัวนี้จะใหญ่กว่าปกติทั่วไปเล็กน้อย คือสูงประมาณ 3 ซม. แต่สภาพสวย และสมบูรณ์มาก ๆ และ ที่สำคัญแกะหนุมานได้ดุมาก ทันทีที่ผมได้ยินคำว่าแกะได้ดุมาก ผมถามว่าเราจะไปชมหนุมานตัวนี้เมื่อไร? ภายหลังเพื่อนก็พาไปที่บ้านเจ้าของหนุมานเลย เมื่อไปถึงบ้าน บ้านเป็นสวนผลไม้ มีพี่น้องอยู่ 3 คน เพื่อนผมก็พาผมไปนั่งรอที่ศาลาริมน้ำ ลุงเจ้าของหนุมานก็เดินเข้ามา ผมก็เลยทักทายลุง ลุงสวัสดี ยังจำผมได้หรือเปล่า ลุงตอบจำได้ วันนี้ผมมาขอชมหนุมานของลุงหน่อย ลุงก็ตะโกนให้น้องชายไปหยิบหนุมานมาให้ชม ผมเห็นปุ๊บ แหม! ตัวใหญ่ไปหน่อย แต่สวยดี หนุมานตัวนี้ลุงได้มายังไงครับ หนุมานตัวนี้ลุงได้มา 10 กว่าปีแล้ว เพื่อนลุงแบ่งให้มา เพื่อนลุงเล่าให้ลุงฟังว่า สมัยก่อนบ้านเพื่อนลุงได้มาหลายตัว ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ ตัวเล็กให้ผู้หญิงกับเด็ก ตัวใหญ่ตัวนี้เพื่อนลุงเลือกเอง และพูดกับตัวเองว่า “ตัวนี้ซิโว้ย จ่าฝูง” ภายหลังเพื่อนลุงก็นำหนุมานตัวนี้มาอวดลุง ลุงเห็นแล้วก็ชอบก็เลยถามว่า หนุมานตัวนี้ขอแบ่งได้หรือเปล่า เพื่อนลุงเลยตอบว่า เพื่อนกันไม่อยากขาย เอาพระมาแลกกันดีกว่า ได้ข่าวว่าลุงมีสมเด็จบางขุนพรหม 3 องค์ ลุงก็เลยตอบว่า สมเด็จมันแพงกว่าเยอะ เอาแบบนี้ดีกว่า แปะราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย มาให้อีกองค์ เป็นอันว่าตกลงทั้งสองฝ่าย ลุงก็ได้ใช้หนุมานตัวนี้มา 10 กว่าปีแล้ว ส่วนราหูอมจันทร์ ลุงก็ให้น้องชายไป ผมก็เลยถามลุงไปว่าลุงใช้มานาน 10 กว่าปีแล้ว ลุงเบื่อหรือยัง ลุงก็ตอบว่า ลุงก็ใช้ไปเรื่อย ๆ ไม่เบื่อหรอก ผมนั่งคิดดูแล้วว่า วันนี้คงไม่จบจึงทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าวันใดลุงอยากจะปล่อยหนุมานตัวนี้ก็โทรบอกเพื่อนผม ส่วนเรื่องราคาลุงก็ตั้งราคามาแล้วกัน หลังจากนั้นต่างคนต่างเงียบไป 3-4 ปี วันนึงลุงก็โทรมาหาเพื่อนผมแล้วถามเพื่อนผมว่า ผมยังสนใจหนุมาน หลวงพ่อสุ่น อยู่หรือเปล่า เพื่อนผมรีบตอบแทนเลยว่ายังสนใจ เพื่อนผมก็เลยถามกลับว่าแล้วลุงจะเปิดราคาเท่าไรครับ ลุงก็ตอบกลับมาว่า ถ้าได้ 2 แสนลุงก็จะปล่อยให้ เพื่อนผมกลับมาแล้วก็รีบส่งข่าวให้ผมทราบ ผมก็ลองคำนวณดูว่า “เบี้ยทองมะเฟือง” เปิด 1.2 แสน ต่อแล้วลดเหลือ 9 หมื่น ส่วนหนุมานตัวนี้ เปิด 2 แสน ต่อรองแล้วน่าจะลดได้ เหลือสัก 1.5 แสน ผมก็เลยบอกเพื่อนไปว่า ให้พูดแบบนี้แล้วจะลงตัวเอง ให้บอกว่าหลังจากคราวก่อนที่ไปหาลุง พอกลับมาไม่นานก็ได้หนุมานหน้าโขนมาแล้ว 2 ตัว แต่ตัวนี้เพื่อนผมเคยบอกลุงไว้ว่า ถ้าจะปล่อยให้โทรบอก เพื่อไม่ให้เสียคำพูด เพื่อนผมขอต่อไว้ที่ 1.5 แสน ถ้าลุงตกลงราคานี้ เพื่อนผมจะเอาเงินสดมาจ่ายภายใน 2 วัน เพื่อนผมก็บอกตามที่ผมสั่ง ลุงก็บอกขอคิดดูก่อน และต้องปรึกษากับน้อง ๆ พรุ่งนี้ลุงจะโทรให้คำตอบ รุ่งขึ้นลุงโทรบอกเพื่อนผมว่าตกลงในราคา 1.5 แสนบาท อีก 2 วัน ผมก็เอาเงินเข้าไปจ่ายลุง ลุงยังแอบชมผมว่า คุณเองก็ดูเก่ง ซื้อเอง ดูเอง พูด คำไหนคำนั้น และไม่ต้องพาคนมาช่วยดูเยอะแยะเหมือนรายอื่น ๆ ที่มาขอดูพระลุง และลุงยังบอกทิ้งท้ายอีกว่า หนุมานตัวนี้ ลุงได้ตั้งชื่อว่า “จอมทัพ” เพราะตอนเจ้าของเดิมได้มาได้เรียกว่า “จ่าฝูง” ความหมายก็คือ หัวหน้าหรือผู้นำ ลุงก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น “จอมทัพ” ให้สมศักดิ์ศรีนักรบผู้กล้าหาญ ผมก็ตอบลุงกลับว่าดี ดีมากครับ ชื่อนี้ผมชอบมากครับ และขอบคุณลุงอีกครั้งที่แบ่งหนุมานตัวนี้ให้ผมเป็นคนดูแลคนต่อไป ตอนนี้เรามาตรวจสอบว่าหนุมานที่ชื่อ “จอมทัพ” จะดีและแท้อย่างไร เริ่มต้นจากขนาดคือสูง 3 ซม. ความอ้วนของตัวหนุมานประมาณโคนนิ้วก้อย ประมาณ 1.5 ซม. ก็ถือว่าไม่ใหญ่นัก และถ้าจะเป็นจอมทัพหรือผู้นำก็ต้องตัวใหญ่หน่อย คือร่างกายกำยำ แข็งแรง เป็นที่น่าเกรงขามต่อฝ่ายตรงข้าม ศิลปะการแกะเป็นพิมพ์หน้าโขน ช่างแกะรายละเอียดลวดลายต่าง ๆ บนตัวหนุมานได้อลังการมาก โดยเฉพาะช่วงอ้าปากและเขี้ยวได้อันใหญ่มาก ดูแล้วหน้าดุจริง และน่าเกรงขามอย่างที่สุด สภาพพื้นผิวส่วนที่ลึกไม่ถูกสัมผัสจะเป็นพื้นผิวสีเทาอ่อน ๆ ในซอก หรือในร่องจะมีคราบ ราดำ ส่วนที่ถูกสัมผัสคือส่วนที่ยื่นออกมา เช่น มือที่กุมเข่า, จมูก, หลัง เนื้อจะจัดจ้าน จะเห็นเนื้อในของไม้จะออกเหลืองเล็กน้อย ส่วนเรื่องน้ำหนัก หนุมานตัวนี้จะเบามาก หนุมาน หลวงพ่อสุ่น อายุถึงปัจจุบันก็ร่วม ๆ 100 ปีแล้ว ไม้ชิ้นเล็กเท่านิ้วก้อย คงแห้งสนิทและไม่มีความชื้นในเนื้อไม้หลงเหลืออีกแล้ว และนี่ก็คือหนุมานที่ชื่อ “จอมทัพ” ของรัก ของหวง อีกชิ้น ของ ช้าง–วัดห้วย ที่เก็บเงียบมานาน และยินดีเผยโฉมในเว็บ ช้าง–วัดห้วย เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ช้าง–วัดห้วย 003 เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง เบี้ยทองมะเฟือง
เบี้ยแก้เป็นเครื่องรางชั้นเยี่ยม ที่พุทธคุณโดดเด่นในทางป้องกันเรื่องคุณไสยกันผีสาง ลมเพลมพัด และอื่น ๆ อีกมากมาย กล่าวคือ ป้องกันสิ่งที่ไม่ดี หรือสิ่งที่เป็นภัยอันตรายต่าง ๆ เข้าตัว หรือในทางแก้ไขก็คือ ผู้ที่โดนของ โดนผีเข้า ก็ใช้เบี้ยแก้ทำน้ำมนต์ประพรมหรือดื่มกิน อาการ ต่าง ๆ ก็จะดีขึ้น ถือว่า เบี้ยแก้มีคุณวิเศษครอบคลุมทั้งป้องกันและปัดเป่า จากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ทั้งปวง ผู้ที่พกพาเบี้ยแก้ติดตัวไปจะแคล้วคลาด รอดพ้นจากภัยเรื่องเหล่านี้ เบี้ยแก้ที่เป็นปฐมแห่งเบี้ยแก้ทั้งปวงก็คือ เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง ถือว่าเป็นต้นตำรับของเบี้ยแก้ทั้งหมด รองลงไป ก็คงจะเป็นเบี้ยแก้หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จังหวัดนครปฐม ตามประวัติ หลวงปู่รอด วัดนายโรงได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่แขก เพื่อเรียนวิชาอาคมต่าง ๆ และวิชา ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ วิชาทำเบี้ยแก้ ที่ทำให้หลวงปู่รอดโดดเด่นและโด่งดังมาถึงทุกวันนี้ วิธีการสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง การสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง หลวงปู่จะมอบเบี้ยแก้ให้แก่ผู้ศรัทธามาขอให้ท่านทำให้เท่านั้น ในสมัยนั้นผู้ที่ต้องการเบี้ยแก้จะต้องจัดหาสิ่งของ 4 อย่างไปถวายให้หลวงปู่จัดทำ ได้แก่ เบี้ยพู, ปรอท, ชันโรง และแผ่นตะกั่ว กรรมวิธีการสร้าง หลวงปู่จะนำปรอทมาบรรจุในตัวเบี้ยและปิดปากเบี้ยด้วยชันโรง แล้วใช้แผ่นตะกั่วหุ้มปิดตัวเบี้ยทั้งตัว หรือจะหุ้มแบบเปิดหลังไว้ก็มี จากนั้นก็จะจารอักขระบนแผ่นตะกั่ว ส่วนใหญ่จะลงยันต์ตรีนิสิงเห, ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และเอาไปปลุกเสกจนเสร็จสมบูรณ์ และแจกจ่ายคืนแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของที่มาขอและส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเบี้ยแก้จากหลวงปู่รอด จะนำเบี้ยแก้ไปให้ช่างถักเชือกเอง มีทั้งถักหุ้มทั้งตัว หรือถักเปิดหลังเบี้ยไว้ส่วนหูก็มีทั้งถักหูเดียว และถัก 2 หู เมื่อถักเสร็จก็ไปลงรักหรือทายางไม้ บางลูกก็ลงรักปิดทอง เพื่อเป็นการรักษาเบี้ยให้คงทนอยู่ได้นาน ๆ หลักการพิจารณาเบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง 1. รูปทรง เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง รูปทรงเบี้ย โดยเฉพาะหลังเบี้ยจะไม่สูงโด่งมากนัก และจะแลดูยาวเรียว ซึ่งตรงข้ามกับเบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว รูปทรงหลังเบี้ยค่อนข้างจะโด่งและแลดูสั้น 2. ลายถักเชือกส่วนใหญ่จะเป็นลายถักแบบเรียบ ๆ เป็นแนวยาวไปบรรจบที่ก้นเบี้ย บางลายก็จะเพิ่มลายถักแบบขวาง 2-4 เส้นก็มี และลายถักแบบเปิดหลังเบี้ยก็มี ลายถักจะสรุปได้ยาก เพราะตอนหลวงปู่ทำเสร็จก็ส่งคืนเจ้าของที่มาขอให้ทำ โดยเป็นแค่เบี้ยเปลือยไม่ได้ถักเชือก แล้ว ผู้ที่มาขอให้หลวงปู่ทำก็ไปให้ช่างถักเชือกกันเอง ฉะนั้น ผู้เขียนอยากจะให้ผู้ที่จะศึกษาให้ดูรูปตามหนังสือเครื่องรางบ่อย ๆ แล้วจดจำรูปแบบและลายถักต่าง ๆ และจะเข้าใจเอง 3. ห่วงหรือหูเบี้ย มีทั้งแบบถักหูเดียวหรือสองหูก็มี หรือแบบห่วงโลหะทองแดง แบบสายวัดกลางบางแก้วก็มี 4. ความเก่าของเชือก, รัก, ชาด, ยางไม้, ทองเก่า เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดส่วนใหญ่จะใช้เชือกที่ทำจาก เชือกปอ, เชือกป่าน เพราะว่าสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง หรือเบี้ยแก้ปู่รอด จะใช้เชือกประเภทนี้เป็นหลัก ส่วน รัก, ชาด, ยางไม้, ทองเก่า วัสดุที่ใช้ทาผิวทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ต้องไม่มีความเงาบนพื้นผิว และต้องมีความหม่นแห้งเก่าสมกับอายุเป็นร้อยปี
ประวัติการได้มาครอบครอง
เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรงตัวนี้ ผู้เขียนได้มา 10 กว่าปี แล้วเก็บเงียบมานาน จำได้ว่าตอนนั้นผมกับพรรคพวกไปตระเวนหาราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย แถวนครชัยศรี ไปเจอเบี้ยปู่รอดตัวนี้ เห็นครั้งแรกก็ชอบเลย เจ้าของเบี้ยเป็นคนแก่ก็เลยถามว่า ลุงครับ เบี้ยตัวนี้ลุงหวงมั้ย ถ้าไม่หวง ผมขอเช่าลุงได้มั้ย ลุงเลยตอบว่าเบี้ยตัวนี้เป็นของส่วนกลางที่บ้าน ใครจะเดินทางไปไหนก็เอาติดตัวไป พอกลับมาถึงบ้านก็นำมาเก็บไว้ที่เดิม ผมก็เลยถามต่อว่า แล้วใครจะเป็นคนตัดสินใจได้ว่าเบี้ยตัวนี้จะขายให้ผมได้หรือไม่ ลุงก็ตอบว่า คุณกลับไปก่อน อาทิตย์หน้าวันนี้คุณค่อยมาใหม่ แล้วลุงจะให้คำตอบ หลังจากนั้นครบอาทิตย์ ผมก็ไปตามนัด ลุงกับน้องอีก 2 คน ก็นั่งรออยู่ก่อนแล้ว ผมก็เลยถามลุงว่า สรุปแล้วปรึกษากันหรือยัง ลุงก็ตอบว่า ปรึกษาแล้วว่าจะขายให้คุณในราคา 120,000 บาท ผมร้องโอ้โหตั้งแสนสอง ผมว่าลุงเปิดราคาแพงมากไปนะครับ ลุงบอกไม่แพงหรอก เบี้ยตัวนี้ปิดทองเก่าด้วย และเบี้ยตัวนี้ได้ตั้งชื่อมาแต่เดิมตั้งแต่สมัยพ่อลุงได้มาสมัยอยู่บ้านเก่าที่ตลิ่งชัน แล้วคุณลุงก็ล้วงเบี้ยออกมาจากถุงผ้าเก่า ๆ ที่เรียกว่าไท่ ภายในมีผ้าดิบสีขาว เขียนข้อความสั้น ๆ ว่า “เบี้ยทองมะเฟือง” เป็นข้อความที่อยู่ในถุงผ้า เจ้าของเดิมคนแรกเป็นคนตั้งชื่อไว้ตั้งแต่สมัยเก่าโน้นแล้ว ผมก็เลยถามลุงว่าแล้วมันแปลว่าอะไร ลุงก็ตอบว่าเบี้ยตัวนี้คงจะคล้ายลูกมะเฟืองมั้ง แล้วราคานี้ลุงลดได้เท่าไร ก็เอาไปถ้วน ๆ 1 แสนก็แล้วกัน เอาอย่างนี้ดีกว่าผมขอลดอีก 1 หมื่น เหลือ 9 หมื่น แบ่งกัน 3 พี่น้อง คนละ 3 หมื่น ลงตัวพอดี ลุงก็หันไปถามน้อง ๆ แล้วก็ให้คำตอบว่าตกลง 9 หมื่นก็ 9 หมื่น สภาพเบี้ยเป็นขนาดมาตรฐาน น้ำหนักเบี้ยปานกลาง ลองเขย่าดูก็มีเสียงปรอทเคลื่อนตัว เมื่อเอากล้องส่องจะเห็นได้ว่า เบี้ยตัวนี้จะลงรักก่อนแล้วลงชาดแดงทับ แล้วปิดทองทั้งตัวเบี้ยเป็นขั้นตอนสุดท้าย ลายเชือกถักก็เป็นแบบเรียบ ๆ เป็นเส้นยาว ๆ เป็นทาง ๆ ตลอดทั้งลูก ด้านบนถักห่วงไว้ 1 หู สภาพโดยทั่วไปเป็นเบี้ยแก้ที่สวยสมบูรณ์มาก ๆ ถือว่าเป็นแชมป์ คือสวยสุดในตระกูลเบี้ยทั้งปวง ให้ทุกท่านดูทองที่ตามตัวเบี้ย ทองที่ปิดมาถึงปัจจุบันแล้วจะแห้ง สีทองจะหม่น ๆ ไม่มีความมันวาวหรือสุกปลั่ง ตามร่องเชือกจะมีฝุ่นผง และขี้ธูปติดตามซอกบ้าง และเรามาวิเคราะห์ชื่อ “เบี้ยทองมะเฟือง” จากคำบอกเล่าของลุงที่เป็นเจ้าของเดิมว่า พ่อของลุงเคยบอกว่า ความหมายคงจะคล้าย ๆ ลูกมะเฟืองสุกจะเป็นสีเหลืองทอง ผู้เขียนว่าความหมายก็ใกล้เคียงดี เพราะดูจากลักษณะการถักลายเป็นเส้นตรง ๆ เป็นแนว ๆ ตลอดทั้งตัวเบี้ย ลายถักนี้ถ้าจะเปรียบเทียบกับลูกมะเฟืองก็คงจะเป็นกลีบมะเฟือง และการปิดทองเบี้ยทั้งลูกก็เปรียบเหมือนตอนที่มะเฟืองแก่เต็มที่ ผลมะเฟืองจากสีเขียวกลายเป็นสีเหลืองทอง ความหมายของชื่อ “เบี้ยทองมะเฟือง” คงประมาณนี้ คนโบราณที่เป็นคนตั้งชื่อนี้ช่างเปรียบเทียบได้ดีเยี่ยมจริง ๆ ผมว่าชื่อ “เบี้ยทองมะเฟือง” ก็เป็นชื่อที่เป็นมงคลดีเหมือนกัน
ช้าง–วัดห้วย |
002 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ “องค์อัศวิน”
พระสมเด็จวัดระฆัง ซึ่งจัดสร้างโดย สมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เป็นพระเครื่องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อผงพุทธคุณ ที่ใคร ๆ ก็อยากได้เป็นเจ้าของ พระสมเด็จวัดระฆังแต่ละองค์ราคาสุดเอื้อมทั้งนั้น คือมีมูลค่าสูง ๆ ทั้งนั้น ยิ่งถ้าเป็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่องค์ดัง ๆ ในอดีต ถ้าความสวยระดับแชมป์ราคาพุ่งทะลุ 100 ล้านบาท และที่รู้ ๆ มีการเปลี่ยนมือมาหลายองค์แล้ว ปัจจุบันพระสวยระดับแชมป์ ถูกเศรษฐีระดับเจ้าสัวซื้อเข้ารังหมด เหลือแต่พระระดับกลางและระดับล่าง หรือพระพอสวย ที่มีหมุนเวียนอยู่ในตลาด แต่วันนี้ผมมีพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ความสวยระดับแชมป์ เก็บเงียบมาเกือบ 20 ปี มาเผยโฉมให้ “หมวดพระสวยขั้นเทพ มีไว้แค่โชว์” เป็นครั้งแรก พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ “องค์อัศวิน” องค์นี้ เดิมเป็นของ อ.เต็ก นครปฐม (อากู๋) สมัยนั้น อากู๋เล่าให้ฟังว่า พรรคพวกอากู๋ชื่อวินัย พาไปซื้อแถวริมน้ำนครชัยศรี ต้องนั่งเรือไปซื้อวันนั้นวันเดียวได้สมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ทีเดียว 2 องค์ และพระย่อม ๆ อีก 4-5 องค์ วัดระฆังพิมพ์ใหญ่ มีสวย 1 องค์ ก็คือ “องค์อัศวิน” อีกองค์ สภาพปานกลาง แต่เนื้อหาจัด เจ้าของบ้านแขวนใช้อยู่ องค์นี้ผู้เขียนไม่เห็นอากู๋ขายไปก่อน เหลือแค่องค์อัศวินองค์เดียว บังเอิญผมไปหาอากู๋เกือบทุกเย็น วันนั้นอากู๋เพิ่งจะได้มาไม่กี่วัน อากู๋จึงงัดออกมาโชว์ผม “เอ้ามึงดู วัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ถ้าแชมป์ต้องแบบนี้” ผมจึงหยิบขึ้นมาส่องดู ร้อง โอ้โห องค์นี้โคตรแชมป์เลย ผมก็เลยลองถามดูว่า อากู๋สมเด็จองค์นี้เปิดเท่าไร ยัง...องค์นี้ยังหวงอยู่เก็บไว้ก่อน ถ้ายังไม่เปิดราคาไม่เป็นไร ผมขอจองไว้ก่อน วันใดอากู๋จะปล่อยให้บอกผมเป็นคนแรก ผมไปหาอากู๋ทุกเย็นตื้อทุกวัน ผมรอประมาณ 3-4 เดือน อากู๋ก็แบ่งให้ และกำชับไว้ว่าเก็บไว้ให้ดี พระสวยแชมป์ไม่ได้เจอง่าย ๆ และอนาคตพระสมเด็จองค์นี้ราคาน่าจะหลายสิบล้านอย่างแน่นอน จากวันนั้นมาถึงวันนี้ก็ประมาณเกือบ 20 ปีแล้ว และผมก็นำ “องค์อัศวิน” ไปถ่ายรูปเพื่อจะมาลงในเว็บ ช้าง–วัดห้วย เมื่อได้รูปแล้วผมก็เอาไปสอบถามอากู๋โดยนำรูป “องค์อธิบดี” ไปเปรียบเทียบ ผมแค่ยื่นรูปทั้งสองไปให้อากู๋ดูโดยยังไม่ได้ถามคำถามเลย อากู๋ตอบว่า แท้ทั้งคู่ ผมก็เลยบอกว่า ที่จะถามนั้นคือ พระสมเด็จทั้งสององค์นี้ใช้บล็อกเดียวกันกดพิมพ์หรือเปล่า? อากู๋ก็ตอบว่าใช่ มึงก็ดูพิมพ์ซิ พิมพ์ใหญ่บล็อกนี้ลำตัวจะแลดูสั้น ๆ กว่าบล็อกอื่น ๆ เล็กน้อย, คางจะแหลม ๆ, ร่องฐานชั้นบนที่อยู่ใต้เข่าจะแคบกว่าบล็อกอื่น ๆ เล็กน้อย และตัดปีกจะมีกรอบกระจก ทั้งสององค์เป็นบล็อกเดียวกันร้อยเปอร์เซ็นต์ และผมก็ถามต่ออีกว่า และองค์ไหนสวยกว่ากัน อากู๋ตอบว่า พอ ๆ กันแล้วแต่ชอบ พระทั้งสององค์เป็นพระสวยสะอาด ตัดข้างได้เรียบร้อย สมบูรณ์มาก ๆ ทั้งสององค์นั้นแหละ ถ้าใครชอบเนื้อออกขาวก็เลือก “องค์อธิบดี” แต่ถ้าใครชอบเนื้อขาวอมเหลืองก็เลือกรูปเล็ก (องค์อัศวิน) คือสวยแชมป์ทั้งคู่ เหมือนคู่แฝดยังไงยั้งงั้นเลย ตอนพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ “องค์อธิบดี” ลงปกนิตยสารพระฉบับหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ผมเห็นรูปครั้งแรกก็นึกในใจว่า “เหมือนของกูเป๊ะเลย” ถึงเวลาที่ “องค์อัศวิน” ต้องเผยโฉมแล้ว ผมใช้เวลาค้นหารูปอยู่นาน หลายปีกว่าจะเจอรูปสมเด็จองค์ที่มีบล็อกเดียวกัน พระบางอย่างโดยเฉพาะพระสมเด็จจะมีแม่พิมพ์หลายบล็อกหลายตัว การที่พระสมเด็จของเราเป็นแม่พิมพ์หรือบล็อกเดียวกันกับพระแชมป์ในอดีต มันเป็นการตอกย้ำถึงความมั่นใจสำหรับผู้ที่เข้ามาอ่านในเว็บ ช้าง–วัดห้วย ว่าทางผมและทีมงานได้คัดสรรเป็นอย่างดีว่าเป็นพระแท้มาตรฐาน และมีที่เหมือน พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ “องค์อัศวิน” องค์นี้ผมถือว่าเป็นพระสวยอันดับต้น ๆ ในรังของ ช้าง–วัดห้วย สภาพพิมพ์ด้านหน้า เป็นพระสมเด็จที่กดพิมพ์ได้ลึกมาก ๆ ให้สังเกตตรงหน้าอก ขึ้นมาเป็นขอบคม ๆ, ใบหน้าพระติดโด่งขึ้นเป็นสัน ไม่แบนเหมือนองค์อื่น ๆ ฐานชั้นต่าง ๆ ติดลึกเป็นสันคม พื้นผิวด้านหน้าเนื้อจะออกขาวอมเหลือง และมีรอยพรุนกระจายอยู่ทั่วไป ด้านหลังเป็นแบบหลังเรียบ มีรอยพรุน ๆ เนื่องจากมวลสารเม็ดเล็ก ๆ หลุดร่อนไป กระจายอยู่เต็มพื้นแผ่นหลัง การตัดขอบข้าง เฉพาะบล็อกนี้ จะตัดมีกรอบกระจกทุกองค์ ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยว่าทำไมการตัดปีกที่มีกรอบกระจกทำไมเหมือนกันทุกองค์ ก็เพราะว่าการแกะแม่พิมพ์ เขาจะแกะเส้นกรอบกระจกไว้ด้วยเวลาตัดข้างก็แค่ตัดให้ตรงแนวทั้ง 4 ด้าน แค่นี้ก็เหมือนกันทุกองค์แล้ว ผมมีข่าวน่ายินดีมาเล่าให้ฟัง มีเพื่อนสมาชิกในหมวดตอบจดหมาย โทรมาเล่าให้ฟังว่า เคยส่งจดหมายมาสอบถามเรื่องพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ที่ซื้อจากคนตกรถเมล์ไม่มีเงินกลับบ้าน เลยช่วยซื้อมา 400 บาท แล้วส่งจดหมายมาสอบถามกับ ช้าง–วัดห้วย ผลปรากฏว่าเป็นพระแท้ และผมก็แนะนำให้ใส่ตลับเงินพกติดตัว ภายหลังมีเพื่อน ๆ กันแนะนำเสี่ยมาดูเกิดถูกใจและขอซื้อไปในราคา 3.5 ล้านบาท โดยไม่ต้องรับประกัน เงินที่ได้มาก็ไปออกรถป้ายแดง เงินที่เหลือก็ฝากไว้ที่ธนาคาร เอาเป็นว่าผมขอแสดงความยินดีด้วยครับ แต่ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านก็อย่าซี้ซั้วซื้อตามป้ายรถเมล์นะครับ เพราะส่วนใหญ่เป็นพวกลาวตกรถนั้นเป็นพระเก๊ทั้งนั้น พวกนี้จะซื้อพระในสนามองค์ละ 50-100 บาท หาสร้อยเก่า ๆ มาสวมแล้วขายตามท่ารถเมล์ประมาณ 300-500 บาท อ้างว่าไม่มีเงินค่ารถ ทั้งเนื้อทั้งตัวมีพระสมเด็จที่ปู่ให้มาพอจะแลกเงินเป็นค่ารถได้ไหม? แค่นี้ก็ได้เงินแล้ว วัน ๆ นึงได้เงินเป็นพัน วิธีนี้ทำกันมานานหลายปีแล้วแต่ก็ยังใช้ได้เรื่อย ๆ นิสัยคนไทยส่วนใหญ่จะขี้สงสาร และบางคนจะมีความโลภ จึงตกเป็นเหยื่อคนพวกนี้อยู่เรื่อย ๆ ข่าวดีปิดท้าย ตอนนี้มีเพื่อนสมาชิกในหมวดตอบจดหมายส่งรูปพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่มาฝากขายจำนวนมาก มีทั้งพระสวยและพระไม่สวย มีทั้งราคาถูก ๆ หรือแพง ๆ แต่ผู้เขียนคัดพระราคาถูกแค่หลักแสน มีทั้งหลักแสนต้น หลักแสนกลาง และหลักแสนปลาย สภาพพระสวยปานกลาง และเป็นพระดูง่าย ๆ พระหลักล้าน ผู้เขียนส่งรูปกลับหมด ใครสนใจ พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ราคาหลักแสน สภาพปานกลาง โทรปรึกษา ช้าง–วัดห้วย 081-3621199 แค่บอกว่าสนใจพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ที่ฝากขาย และผู้ที่จะเช่ามีงบประมาณเท่าใด กรณีเช่าไปแล้วเกิดไม่ชอบเอามาเปลี่ยนได้ 1 ครั้ง พระสมเด็จมีจำนวนไม่มาก ใครมาก่อนเลือกก่อนครับ พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ข้างกนก เนื้อเขียว กรุฤๅษี จังหวัดกำแพงเพชร “องค์นพรุจ”
สุดยอดของพระโภคทรัพย์ เจ้าของวลี “มึงมีกูไว้ไม่จน” ไม่มีใครไม่รู้จักพระกำแพงซุ้มกอ แตกกรุครั้งแรกที่วัดบรมธาตุ ต่อมาพบอีกที่วัดพิกุลและกรุฤๅษีและกรุอื่น ๆ อีกเล็กน้อย พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ข้างกนกกับพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ไม่มีกนกข้างหรือซุ้มกอดำ ส่วนเนื้อมีสร้างด้วยเนื้อดิน เนื้อว่านและเนื้อชิน ส่วนขนาดก็มีพิมพ์ใหญ่, กลาง, เล็ก, จิ๋ว และพิมพ์ขนมเปี้ยะ ส่วนพิมพ์ที่ได้รับความนิยมที่สุดคือพิมพ์ใหญ่ข้างกนก และกรุที่ได้รับความนิยมก็คือกรุบรมธาตุ, กรุวัดพิกุล และกรุฤๅษี และถ้าจะถามภายใน 3 กรุ กรุไหนได้รับความนิยมที่สุด คงจะตอบว่าได้รับความนิยมพอ ๆ กัน ขึ้นอยู่กับความสวยสมบูรณ์ พระกำแพงซุ้มกอกรุบรมธาตุแตกกรุมาร้อยกว่าปี สภาพพระส่วนใหญ่จะใช้สึก เนื่องจากสมัยก่อนการเก็บรักษาการพกพานำติดตัวไป และการอนุรักษ์ต่าง ๆ ยังไม่ดีพอ ผิดกับกรุพิกุลและกรุฤๅษีแตกกรุมาประมาณ 50 ปี คือไม่นานนัก การเก็บรักษาต่าง ๆ จะดีกว่า ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าพระซุ้มกอของกรุวัดพิกุลและกรุฤๅษี จะมีพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ข้างกนกสวย ๆ แบบมีหน้าตาอยู่ในวงการอยู่หลายองค์ และวันนี้ผู้เขียนได้นำพระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ข้างกนกเนื้อเขียวซึ่งเก็บเงียบมา 20 ปี มาให้ทุก ๆ ท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บช้างวัดห้วยชมเป็นขวัญตาต้อนรับปีใหม่ 2560 พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ข้างกนก ผู้เขียนตั้งชื่อว่า “องค์นพรุจ” ซึ่งแปลว่ามีความรุ่งเรืองเสมอ ชื่อนพรุจ รวมแล้วได้ 24 เลข 24 คือ โชคดี มั่งมีศรีสุข ซึ่งความหมายจะสอดคล้องกับพุทธคุณของพระกำแพงซุ้มกอ คือเป็นพระทางโชคลาภ หรือโภคทรัพย์นั่นเอง พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ข้างกนกองค์นี้เป็นพระที่สวยสมบูรณ์มาก เรียกว่า แชมป์ตัวจริงก็ไม่เกินเลย สภาพด้านหน้าเป็นพระกดพิมพ์ได้ลึกมาก ๆ โดยเฉพาะหน้าตา จมูก ปาก ติดได้ชัดเจน, ซอกแขนทั้ง 2 ข้าง ลึกอย่างกับเหว กนกข้างทุกตัวติดคมชัด บัวเล็บช้างติดเต็มที่ ดูจากแม่พิมพ์ทั้งหมดแล้ว พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่องค์นี้เป็นของกรุฤๅษี ถ้าผู้อ่านแยกกรุไม่ออกให้สังเกตที่ตาซ้ายพระด้านบน จะมีเปลือกตาหรือจะเรียกขอบตาก็ได้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งกรุอื่นจะไม่มี ให้ลองสังเกตดูหลาย ๆ องค์ตรงจุดนี้เป็นทุกองค์ ส่วนด้านหลังจะเป็นรอยกาบหมาก ถ้าพระสมบูรณ์ไม่สึกด้านหลังจะต้องเป็นหลังกาบหมากทุกองค์ ไม่ใช่เป็นรอยมือกดเหมือนพิมพ์กลาง หรือพิมพ์เล็ก ส่วนเนื้อพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ข้างกนกองค์นี้จะเป็นเนื้อสีเขียว ซึ่งเนื้อเขียวเป็นเนื้อที่พบเจอน้อยมาก จนเซียนบางคนจะบอกว่าเนื้อเขียว ไม่มี เมื่อ 2-3 ปีก่อน ก็มีเพื่อนสมาชิกโทรเข้ามาถามเหมือนกันว่าเนื้อเขียวมีหรือไม่ ผมก็ตอบว่ามีแน่นอน ผมก็มีอยู่ 1 องค์ ก็คือองค์นี้ ท่านผู้อ่านก็ลองคิดดู พระกำแพงเม็ดขนุนเนื้อเขียวที่ลงหนังสือพิมพ์เป็นที่ฮือฮามากขนาดแค่พอสวยราคาพุ่งแพงกว่าเนื้อแดงหลายเท่าตัว นี่แค่เม็ดขนุนนะ และลองคิดดูพระกำแพงเม็ดขนุนเนื้อเขียวมี และพระกำแพงซุ้มกอเนื้อเขียวจะไม่มีได้อย่างไร ในเมื่ออยู่ในกรุเดียวกัน สร้างพร้อม ๆ กัน และอีกอย่าง ถ้าคุณดูเป็นก็ดูพิมพ์ซิ พิมพ์ถูก ความเก่าได้ เนื้อมันก็ต้องใช่อยู่แล้ว ก็แค่นั้นเอง อยู่ที่ว่าคุณดูเป็นหรือเปล่า? ประวัติการได้มาครอบครอง พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ข้างกนกเนื้อเขียว “องค์นพรุจ” องค์นี้ เจอครั้งแรกปี 2535 โดยการแนะนำของคนหาพระที่สนิทกัน พาเข้าไปดู ผมเห็นครั้งแรกมือสั่นเล็กน้อยไม่คิดว่าจะสวยงามมากมายขนาดนี้ และก็คิดในใจพระอยู่ในสถานที่แบบนี้คงไม่น่าจะแพง ที่ไหนได้นั่งคุยอยู่ครึ่งวัน เจ้าของพระไม่ยอมขาย บอกว่าจะเก็บไว้ให้ลูกชาย และไม่อยากจะขายพระกิน ผมมองดูแล้ววันนี้คงจะไม่จบแน่ กลับไปตั้งหลักก่อนดีกว่า ผมก็สั่งคนหาพระว่าเฝ้าไว้ให้ดี ไปมาหาสู่บ่อย ๆ ซื้อของไปฝากบ้าง ทำแบบนี้อยู่หลายปี จนมาถึงปลายปี 2539 ผมก็บอกคนหาพระว่าลองไปเสนอใหม่ว่าถ้าไม่ขายจะเอาพระมาแลกได้มั้ย อยากได้พระอะไรลองเสนอมา เจ้าของพระซุ้มกอบอกขอคิดดูก่อน ส่วนข้อเสนอของเจ้าของพระก็คือ อยากได้พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ 2 องค์ พร้อมใส่ตลับทองมาด้วย จะได้ให้ลูกชาย 2 คนจะได้ไม่ทะเลาะกัน ผมก็รีบไปปรึกษาอากู๋ (อาจารย์เต็ก) ถ้าเป็นอากู๋จะแลกมั้ย อากู๋บอกว่า ถ้าสวยแชมป์และเป็นเนื้อเขียว อย่างที่บอกก็น่าแลก และเราก็ไม่ต้องเอาสวยมากไปแลกหรอก แค่เอาพอสวยก็พอ และหาองค์เนื้อจัดดูง่าย ๆ เชื่อซิมันคุ้มมาก ๆ เลย ซุ้มกอพิมพ์ใหญ่เนื้อเขียวสวยแชมป์เซียนบางคนเล่นจนตายยังไม่เคยเห็นเลย เออ และเจ้าของพระซุ้มกอมีคนดูพระสมเด็จของเราหรือเปล่า ผมก็ตอบว่ามีเป็นเซียนชาวบ้านแถวนั้นเป็นคนดูให้ และวันไปหาเจ้าของพระซุ้มกอให้ใส่พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ให้สวยกว่า 2 องค์ที่จะไปแลกเล็กน้อย เผื่อจำเป็นจะต้องแลก พอถึงวันนัดก็ไปเจอกันที่บ้านเจ้าของพระซุ้มกอ และคนดูพระของเจ้าของ พระซุ้มกอก็นั่งรออยู่ก่อนแล้ว ผมก็รีบเอาสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ 2 องค์ ออกมาให้ชม เซียนคนนั้นก็ควักกล้องส่องพระออกมา เป็นกล้องขนาดเล็ก และเก่ามาก ในใจผมก็คิดว่า เซียนคนนี้น่าจะเก่งพอควร ขณะกำลังดูพระสมเด็จ ผมก็รีบบอกไปว่าไม่ต้องกลัวเก๊หรอก อ.เต็ก นครปฐม เป็นคนเช็คพระให้ผม เซียนคนนั้นก็หันมาถามผมว่า เราเป็นอะไรกับ อ.เต็ก ผมก็ตอบไปว่าเป็นหลานชาย และถามต่ออีกว่าเราเล่นพระมากี่ปีแล้วผมก็ตอบไปว่า 4-5 ปี เอง แต่มี อ.เต็ก คอยตรวจสอบให้อีกที และซุ้มกอองค์นี้ อ.เต็ก ยังไม่เห็นไม่ใช่หรือ และเราจะกล้าแลกหรือ ผมก็ตอบกลับไปว่าพระเบญจภาคีชุดใหญ่ ผมฝึกมาโดยตรง และพิมพ์นี้กรุนี้ ก็คือกรุฤๅษี ผมดูเป็นมานานแล้วและที่บ้านก็มี 2-3 องค์ แต่ไม่สวยเท่าองค์นี้ ถ้าผมไม่แม่นและไม่มั่นใจ ผมไม่กล้ามาคนเดียวหรอก ผมคงต้องหนีบ อ.เต็ก มาด้วย เซียนคนนั้นดูพระสมเด็จสักพักก็บอกว่า OK แท้ทั้งคู่ แต่มี 1 องค์ซุ้มกะเทาะไปหน่อย พอจะมีองค์อื่นอีกมั้ย ผมก็ควักองค์บนคอให้ดู เซียนคนนั้นก็ดูสักครู่ และบอกกับเจ้าของพระซุ้มกอว่าองค์นี้ดีกว่า ขอเปลี่ยนเป็นองค์นี้ได้หรือเปล่า ผมก็ถามว่าถ้าเปลี่ยนองค์นี้แทน เป็นอันว่าตกลงใช่มั้ย เจ้าของพระซุ้มกอถ้าได้ก็ตกลง ผมเลยรีบตอบรีบตกลง และแลกกันไป ผมเลยหันไปถามเซียนพระคนนั้นว่ารู้จัก อ.เต็ก ด้วยหรือ เขาตอบว่ารู้จัก อ.เต็ก เป็นกรรมการชุดเบญจภาคี และเป็นกรรมการรับพระด้วย อ.เต็ก จะรูปร่างสูง ๆ ผอม ๆ คล้ายกับเรานั่นแหละ และเราสูงเท่าไหร่ ผมสูง 180 ซม. อ.เต็ก สูง 182 ซม. จากนั้นผมก็ลากลับ แล้วก็รีบไปหา อ.เต็ก ทันที และรีบบอกว่าแลกเรียบร้อยแล้ว ไหน ๆ ลองเอามาดูซิ ผมก็ควักซุ้มกอออกมา อ.เต็ก ยังไม่ทันส่องเลย แค่ดูตาเปล่าก็บอกเลย เออ แท้ แล้วค่อยส่องกล้อง โอ้โห องค์นี้แชมป์จริง ๆ ตั้งแต่เล่นพระมา ยังไม่เคยเห็นองค์ไหนสวยเท่าองค์นี้เลย และเป็นเนื้อเขียวด้วย ยิ่งหายากมาก ๆ เลย ซุ้มกอเนื้อเขียวให้เก็บเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งเอาออกมาให้ใครเห็น เอ็งอายุยังน้อยเก็บไว้สัก 10-20 ปี ค่อยเอาออกมาราคาจะพุ่งขึ้น 10-20 เท่าเลย ตอนนี้ให้ขายองค์ไม่สวยไปก่อน ของสวย ๆ มันไม่มีของ เดี๋ยวราคามันขึ้นเอง จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ประมาณ 20 ปีแล้ว ผมเก็บซ่อนไว้จนลืมเลย เมื่อต้นเดือนธันวาคม ปี 2559 ผมได้ค้นซุ้มกอองค์นี้ออกมาเพื่อนำไปถ่ายรูปลงในเว็บ ช้าง–วัดห้วย ก่อนไปถ่ายรูปเลยแวะไปหาอากู๋ (อ.เต็ก) ให้ดูซุ้มกออีกครั้งหนึ่ง อากู๋บอกว่ายังสวยแชมป์เหมือนเดิม และยังพูดแบบเดิมอีกว่า ตั้งแต่เล่นพระมาหลายสิบปี ยังไม่เคยเห็นองค์ไหนสวยชนะองค์นี้เลย ซุ้มกอเนื้อเขียวองค์นี้ถ้าวันนึงจะขาย อย่าขายถูกนะ อยากจะให้ขายให้สนั่นวงการไปเลย หรือถ้าจะไม่ขายจะเก็บไว้ก็ได้ ของสวยระดับแชมป์ ไม่ต้องห่วง วันนึงเศรษฐีจะมาหาถึงบ้านเอง และวันนึงเมื่อเราแก่ตัวลงมีอายุมากขึ้นก็จำเป็นต้องปล่อยออกก็คือ “สมบัติผลัดกันชม” จะเป็นแบบนี้ ทุกคนนั่นแหละ และนี่ก็คือเรื่องราวของ พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่เนื้อเขียว “องค์นพรุจ” ซึ่งกว่าจะได้มาใช้เวลา 4-5 ปี กว่าจะได้เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ และกว่าจะเผยโฉมในเว็บ ช้าง–วัดห้วย ในวันนี้ ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี เรื่องนี้เป็นความทรงจำที่ไม่มีวันลืม เล่าย้อนอีกกี่ครั้งก็เหมือนเดิม |