พระเครื่อง
- พระสุดหวงของ ช้าง–วัดห้วย
- หมวดพระสวยขั้นเทพ-มีไว้แค่โชว์
- หมวดรวมพระแชมป์ยอดนิยม
- พระเบญจภาคี
- พระปิดตายอดนิยม
- เครื่องรางยอดนิยม
- พระเครื่องเนื้อโลหะยอดนิยม
- หมวดพระหลักฝากขาย เกรดพรีเมี่ยม
- พระเครื่องเนื้อดินยอดนิยม
- พระชุดเล็กยอดนิยม
- หมวดมรดกพระเครื่อง อ.เต็ก
- หมวดพระเครื่ององค์พิเศษ
- พระทวารวดี และเทวรูปขนาดเล็ก
- หมวดพระแชมป์–ราคาแรงส์
- หมวดพระแปลกตาแต่แท้ชัวร์
- หมวดพระแท้ผู้อ่านฝากมาโชว์
- หมวดพระแชมป์–ราคาเบา
- หมวดพระยอดหายาก
หลักการดูแม่พิมพ์ “องค์อธิบดี”
โดย ช้าง-วัดห้วย
พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ “องค์ปองพล”
พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ สุดยอดปรารถนาของทุกคน ยิ่งถ้าเป็นพระที่มีชื่อเสียงในอดีต ก็ยิ่งหายากเข้าไปอีก ใครมีก็ต่างหวงแหน ซึ่งกว่าจะเปลี่ยนมือก็ต้องรอกันจนตายไปข้างหนึ่งเลยทีเดียว และเมื่อตายไปแล้วก็เป็นมรดกของลูกหลาน และก็ไม่แน่ว่าพระอาจจะเปลี่ยนมือ เพราะบางครอบครัว เจ้าของเดิมก็อาจจะสั่งเสียไว้ว่า เก็บพระองค์นี้ไว้ให้ดี ให้เป็นสมบัติของตระกูลเรา เพราะพระสมเด็จสวยขนาดนี้คงหาไม่ได้อีกแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ก็คงยาก หรือถ้ามีการเปลี่ยนมือจริง ก็คงได้ในราคาที่แพงกว่าหลายเท่าตัว จะเห็นได้ว่าพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เป็นสุดยอดของคนอยากมีไว้เป็นเจ้าของ ส่วนพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่องค์ดังในอดีตที่มีการเปลี่ยนมือด้วยมูลค่าสูงมาก ๆ มีอยู่ด้วยกันหลายองค์ เช่น องค์ลุงพุฒิ, องค์ขุนศรี, องค์คุณบุญส่ง และองค์เสี่ยดม ทุกองค์ล้วนเปลี่ยนมือไปอยู่ในรังมหาเศรษฐี ซึ่งแต่ละองค์ต้องใช้เงินถึง 50-100 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งแต่ละองค์ล้วนเป็นที่ 1 ของพิมพ์นั้น ๆ เช่น องค์เสี่ยดมก็คือสุดยอดอันดับ 1 ของพิมพ์ที่ 1 คือพิมพ์ มีเส้นแซมใต้ตัก และอีกองค์ก็คือ องค์ลุงพุฒิ ก็คือสุดยอดอันดับที่ 1 ของพิมพ์ที่ 4 พิมพ์เกศทะลุซุ้ม (แบบอกตัววี) ซึ่งใคร ๆ ก็อยากมีพิมพ์เหมือนองค์ลุงพุฒิกันทั้งนั้น ซึ่งใคร ๆ ก็บอกว่า พระตัวเองเป็นแม่พิมพ์ตัวเดียวกันกับองค์ลุงพุฒิโดยนำรูปมาเปรียบเทียบแล้วประกาศขายในเน็ต ซึ่งผู้เขียนดูแล้วไม่มีเหมือนองค์ลุงพุฒิเลยสักองค์เดียว และยังมีอีกองค์ซึ่งดังไม่แพ้กัน และมีคนเอารูปไปเปรียบเทียบแล้วบอกขายเยอะมาก นั่นก็คือ “องค์อธิบดี” ซึ่งพระสมเด็จ “องค์อธิบดี” องค์นี้เป็นพระที่มีความสวยงามมากระดับต้น ๆ ของวงการพระเครื่องเมืองไทยเลยทีเดียว และมีคนนำเอารูปไปเปรียบเทียบกับ “องค์อธิบดี” แล้วเอาไปประกาศขายในเน็ตเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันกับ “องค์ลุงพุฒิ”
การจะเปรียบเทียบว่าเป็นแม่พิมพ์เดียวกัน และเนื้อเหมือนกันคุณจะต้องหาองค์ที่มีพิมพ์เดียวกันคือเหมือนกันทุกจุดทุกตำแหน่ง ไม่ใช่ว่าหาองค์คล้าย ๆ กันแล้วมาบอกว่าเกิดการเขยื้อนตัวหรือหดตัว ทำให้พิมพ์เพี้ยนไปเล็กน้อย คุณเชื่อผมเถอะว่า พระอายุเท่ากัน แม่พิมพ์ตัวเดียวกัน การหดตัวพอ ๆ กัน ถ้าเขยื้อนตัวก็มีบ้าง แต่ก็น้อยมาก แต่เราก็ดูจุดอื่นก็ได้ที่ไม่ได้เขยื้อน ส่วนเนื้อก็ต้องเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกันมาก ๆ เช่น เนื้อหยาบ หรือเนื้อละเอียด เนื้อมีรูพรุน สุดท้ายก็จะเป็นด้านหลัง จะเป็นหลังเรียบ, หลังกระดาน หรือหลังกาบหมาก และอื่น ๆ ซึ่งจะต้องเหมือน ๆ กัน ก็คือ ตอนที่ทำพิมพ์นี้กดพิมพ์ ตอนนั้นผสมมวลสารได้ประมาณนี้และกดพิมพ์ออกมาได้ประมาณ กี่องค์ ส่วนด้านหลังตอนนั้นใช้ไม้อันไหนกดพิมพ์ซึ่งมันจะไม่หนีกันหรอกคือจะเหมือน ๆ กัน หรือจะใกล้เคียงกันมาก
ส่วนอีกเรื่องที่ทำให้คนปวดหัวปวดหัวมากที่สุด ก็คือเซียนรุ่นใหม่ที่อนาคตจะก้าวขึ้นมาแทนเซียนรุ่นเก่า ที่สัมผัสได้และเห็นได้ชัดก็คือ เซียนรุ่นใหม่จะยึดถือการดูเนื้อและดูความเก่าเป็นหลัก และเป็นแบบนี้ทุกคน เป็นสิ่งที่สั่งสอนกันมาแบบผิด ๆ และถ้าเจอเนื้อแบบองค์ที่เหมือน “องค์อธิบดี” ผู้เขียนว่าดูยังไงก็ไม่ผ่าน พระสมเด็จบางองค์ ถ้าดูไม่ถึงจริง ๆ พระจะกลายเป็นพระเก๊ทันที หลักการดูพระเครื่องทุกอย่างต้องเริ่มจากการดูพิมพ์พระก่อน ถ้าพิมพ์ไม่ถูกก็ไม่ต้องดูต่อ แต่ถ้าพิมพ์ถูกก็ดูต่อ ให้ดูเนื้อและดูความเก่าต่อ ถ้าผ่านก็กลับไปดูพิมพ์อีกครั้ง ตรวจสอบให้มั่นใจแล้วค่อยสรุปอีกทีว่าแท้หรือไม่ ไม่ใช่ยังไม่ทันส่องกล้องก็บอกว่า “ไม่เก่า” เพราะพระแต่ละองค์เจ้าของพระกว่าจะเก็บสะสมหรือหามาได้ไม่ใช่จะใช้เวลาไม่กี่วัน แต่ใช้เวลาเป็นปี ๆ หรือหลาย ๆ ปี กว่าจะได้มา ผู้เขียนมักจะพูดให้ลูกค้าฟังอยู่เสมอว่า “การศึกษาหาความรู้เรื่องพระนั้นถือว่ายาก และการจะหาพระที่แท้และทุกคนยอมรับว่าแท้นั้นยังยากเข้าไปอีก และสุดท้ายการขายพระให้ลูกค้าเชื่อมั่นและมั่นใจว่าพระที่ซื้อไปเป็นพระแท้และมาตรฐานวงการนั้นคือสิ่งที่ยากที่สุดครับ”
และวันนี้ เราจะมาเปิดเผยเคล็ดลับการดูพิมพ์ “องค์อธิบดี” อย่างละเอียด ซึ่งผู้เขียนเคยบอกไปบางส่วนตอนเขียนถึง “องค์อัศวิน” ซึ่งมีแม่พิมพ์เหมือน “องค์อธิบดี” แบบ 100% แต่วันนี้เราจะเอาองค์ของคุณปองพล ซึ่งประกวดรูปภาพติดที่ 1 ในเว็บช้าง มาอธิบายซึ่งมีแม่พิมพ์เหมือน “องค์อธิบดี” เช่นเดียวกัน
หลักการพิจารณาแม่พิมพ์ “องค์อธิบดี”
พระสมเด็จ วัดระฆังพิมพ์ใหญ่ “องค์ปองพล”
(แม่พิมพ์เดียวกันกับ องค์อธิบดี)
“องค์อธิบดี” “องค์ปองพล”
หมายเหตุ ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูงสำหรับเจ้าของพระสมเด็จวัดระฆัง “องค์อธิบดี” ที่ผู้เขียนนำรูปภาพมาเปรียบเทียบ เพื่อเป็นประโยชน์และความรู้แก่คนทั่วไปครับ
หลักการพิจารณา แม่พิมพ์ “องค์อธิบดี” (ที่แตกต่างจากพิมพ์ใหญ่มาตรฐานทั่วไป)
1. จุดแรกจะเริ่มจากขอบก่อน พระสมเด็จ “องค์อธิบดี” จะเป็นพระตัดขอบแล้วจะมีกรอบกระจกทุกองค์ และเส้นบังคับพิมพ์ทางซ้ายมือ ช่วงปลายจะเอียงเข้าหาซุ้มครอบแก้ว ตรงช่วงกึ่งกลางแขนซ้ายพระ ซึ่งผิดกับแม่พิมพ์อื่น ๆ ซึ่งจะแกะแม่พิมพ์เส้นบังคับพิมพ์เส้นนี้เริ่มชิดซุ้มครอบแก้วตั้งแต่หัวไหล่ซ้ายพระแล้วกลืนเข้าไปในซุ้มครอบแก้ว ตรงบริเวณกึ่งกลางแขนซ้ายพระเช่นกัน
2. ให้สังเกตซุ้มครอบแก้ว ช่วงโค้งซ้ายมือพระจะโค้งลาดมากกว่าด้านขวามือพระอย่างเห็นได้ชัดเจน และช่วงโค้งจะแกะซุ้มครอบแก้วบางและเล็กและเตี้ยกว่าซึ่งจะแตกต่างกับพิมพ์ใหญ่บล็อกอื่น ๆ ซึ่งจะแกะแม่พิมพ์ช่วงโค้งจะโค้งลาดต่ำกว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือบางพิมพ์จะแกะช่วงโค้งพอ ๆ กันทั้ง 2 ข้างก็มี
3. ให้ดูเกศทะลุซุ้มพิมพ์นี้จะทะลุซุ้มขึ้นไปเพียงเป็นตุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น และเป็นทุกองค์ของแม่พิมพ์ “องค์อธิบดี” ซึ่งจะแตกต่างกับพิมพ์ใหญ่บล็อกอื่น ๆ จะเห็นเกศทะลุซุ้มแทงทะลุซุ้มขึ้นไปอย่างชัดเจน แต่ในความเห็นของผู้เขียนเกศทะลุซุ้มของแม่พิมพ์ “องค์อธิบดี” เป็นเพียงแม่พิมพ์ที่ช่างแกะแม่พิมพ์ตรงเกศพาดทะลุขึ้นไปเพียงนิดเดียวแค่ตุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น
4. ให้ดูต่อลงไปที่ใบหน้าของพระ แม่พิมพ์ใบหน้าของ “องค์อธิบดี” จะค่อนข้างกลม ปลายคางจะแหลม และเป็นแบบนี้ทุกองค์ ซึ่งจะแตกต่างกับพิมพ์ใหญ่บล็อกอื่น ๆ ส่วนใหญ่หน้าจะเรียวยาวหรือจะเรียกว่ารูปไข่ก็ได้
5. ให้ดูต่อไปที่หน้าอกพระของ “องค์อธิบดี” หน้าอกค่อนข้างตัน ๆ หน่อยไม่เป็นอกวี อกจะออกคล้ายอกกระบอกปลายด้านล่างข้างเอวจะผายออกเล็กน้อย
6. ให้ดูหน้าอกต่อคือ ช่วงตัวระดับตั้งแต่ช่วงระดับหัวไหล่ลงมาถึงช่วงมือประสาน ช่วงนี้จะแลดูสั้นหรือแคบกว่าพิมพ์ใหญ่บล็อกอื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งจะแลดูจะยืดกว่าแม่พิมพ์ “องค์อธิบดี” เล็กน้อย
7. ให้ดูฐานชั้นบนกับหน้าตัก แม่พิมพ์ “องค์อธิบดี” จะแคบกว่าแม่พิมพ์ใหญ่ทั่ว ๆ ไป ซึ่งแม่พิมพ์ใหญ่ทั่วไป ฐานชั้นบนกับหน้าตักทางด้านขวามือพระจะแคบแล้วค่อย ๆ ถ่างออก และไปกว้างสุดปลายด้านซ้ายมือพระ ส่วนแม่พิมพ์ “องค์อธิบดี” ร่องฐานทางด้านขวาและทางด้านซ้ายความกว้างจะพอ ๆ กัน
8. ด้านหลังแม่พิมพ์ “องค์อธิบดี” จะเป็นแบบหลังเรียบ แต่พื้นผิวจะมีร่องรอยเป็นขีด ๆ กระจายอยู่เต็มพื้นผิวแผ่นหลัง และหลังจะเป็นแบบนี้ทุกองค์ของแม่พิมพ์ “องค์อธิบดี” และผู้เขียนก็เจอแม่พิมพ์ “องค์อธิบดี” มาหลายองค์แล้วและไม่เคยเจอหลังแบบอื่น ๆ เช่น หลังสังขยา, หลังกระดาน, หลังกาบหมาก และหลังนี่แหละคือเอกลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของแม่พิมพ์ “องค์อธิบดี”
9. สีและเนื้อพระของแม่พิมพ์ “องค์อธิบดี” ส่วนใหญ่เนื้อจะออกขาว ถ้าเข้มขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นขาวอมเหลือง เช่น “องค์อัศวิน” ของผู้เขียน สีผิวพระจะออกขาวหรือขาวอมเหลือง หรือออกเหลือง มันอยู่ที่การเก็บรักษา การใช้การถูกสัมผัส และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ผู้เขียนจะเน้นไปที่แม่พิมพ์เป็นอันดับแรก ส่วนเนื้อและพื้นผิวส่วนใหญ่จะพบเจอแต่เนื้อพรุน ๆ จะน้อยจะมากแต่เป็นทุกองค์ เนื้อพรุน ๆ นี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากมวลสารหลุดร่อนออกไป เนื่องจากอายุการหดตัวของมวลสาร การปริของเนื้อและอื่น ๆ อีกมากมาย
สุดท้ายก่อนจบมีเรื่องมาเล่าให้ฟัง ก็คือมีเพื่อนสมาชิกส่งรูปมาให้ดูและถามสั้น ๆ ว่า พิมพ์เดียวกับ “องค์อธิบดี” มั้ย ผู้เขียนเห็นแค่รูปก็ตอบไปว่าใช่พิมพ์เดียวกัน เจ้าของพระเลยเล่าให้ฟังว่า เอาตัวจริงไปแห่ที่ห้าง และเลือกแห่เซียนที่เล่นพระสมเด็จโดยตรง ส่วนใหญ่พอส่องกล้องเห็นเนื้อขาว ๆ ก็วางและบอกว่าไม่เก่า บางคนก็บอกว่า พิมพ์ไม่ถูกก็มี ผมเลยเป๋ เลยมาถาม อ.ช้าง ผู้เขียน ก็ตอบไปว่า เซียนสมัยนี้ที่สัมผัส ส่วนใหญ่จะดูเนื้อก่อน ถ้าเนื้อไม่เก่าอย่างองค์ที่คุณส่งรูปมานี้ ก็โดนตีเก๊อยู่แล้ว จากคำบอกเล่าเจ้าของพระ พระสมเด็จองค์นี้ถูกห่อกระดาษเก็บไว้อย่างดีไม่เคยเอาออกมาใส่ ไม่เคยถูกสัมผัส ไม่มีฝุ่นผงเกาะเลยสะอาดมาก พระสมเด็จองค์นี้ถ้าดูพิมพ์ เซียนก็คงซื้อคุณไปแล้ว แต่ถ้าดูเนื้อก็ตีเก๊อยู่แล้วคุณอย่าไปคิดมาก คิดเสียว่า เซียนแต่ละคน ความรู้ไม่เท่ากัน ดูก็ไม่เหมือนกัน ผู้เขียนก็แนะไปว่าไปหาตลับใส่ห้อยคอไปเรื่อย ๆ ไอเหงื่อจะเคลือบผิวทำให้ผิวเข้มขึ้นจัดขึ้น และก็บอกข่าวว่า ตอนนี้ผู้เขียนกำลังจะเขียนถึง “แม่พิมพ์องค์อธิบดี” อยู่พอดี เดือนกันยายนนี้คงเสร็จ แล้วคุณก็ลองเปรียบเทียบดูว่าเหมือนมั้ย บางทีพระสมเด็จองค์นี้อาจจะอยากอยู่บนคอของคุณก็ได้ใครจะไปรู้